หมาเจ้าเมือง

หมาเจ้าเมือง

ร.ต.พิมล สุวรรณสุภา

อันว่าบุญวาสนาของสัตว์โลก ทั้งผองจะเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงนั้น ย่อมเป็นไปตามกฎแห่งกรรมของตนเองทั้งสิ้น ก่อกรรมใดที่ไม่ถูก กาลเทศะ, โลภโมโทสัน หรือเหิมเกริมจนลืมตนก็จะเป็นเหตุปัจจัยฉุดรั้งให้ต่ำลง แทนที่จะช่วยดึงให้สูงขึ้น

สัจธรรมข้อนี้ผมได้มาจากชีวิตของ “ไอ้เด่น” หมาตัวเก่งของผู้ว่าราชการจังหวัดท่านหนึ่ง ซึ่งนิยมชมชอบให้ผู้ใต้บังคับบัญชาพ่อค้าประชาชน เรียกท่านว่า “เจ้าเมือง” ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดท่านนี้เคยประกาศต่อ ที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจําจังหวัดว่า ท่านจะเป็นหัวหอกเสนอให้กระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนชื่อตําแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด กลับไปเป็น เจ้าเมือง เหมือนในสมัยที่มีการปกครองระบบเทศาภิบาล ท่านอ้างเหตุผลของท่านว่า คําว่า เจ้าเมือง นั้นสูงด้วยศักดิ์ศรี บารมี ยิ่งกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดมากมายหลายเท่านัก แต่ต่อมาก็เงียบไปเข้าใจว่าคงไม่มีผู้ว่า ราชการจังหวัดคนไหนเล่นด้วยกับท่าน

แต่อย่างไรก็ตาม ไอ้เด่น หมาตัวเก่ง ก็ยังได้รับยกย่องจากพวกลิ่วล้อของท่านว่า หมาเจ้าเมือง แทนที่จะเป็นหมาผู้ว่าราชการจังหวัด

ไอ้เด่น หมาเจ้าเมือง เป็นหมาไทยสีน้ําตาล อ้วนท้วนสมบูรณ์เพราะอยู่ดีกินดี บนหน้าผากค่อนไปทางเหนือตาขวาของมัน มีจุดเด่นสีขาวเป็นปื้นเห็นได้ชัดเจน ด้วยเหตุนี้ท่านผู้ว่าฯจึงตั้งชื่อให้มันว่า เด่น

ผมเห็นไอ้เด่นมาตั้งแต่วันแรกที่ท่านผู้ว่าฯ ย้ายมาดํารงตําแหน่ง ไม่ใช่ผมอิจฉาหรือมีอคติกับหมานะครับ แต่บอกตรงๆว่า ลัคจันทร์ หรือ ดวงของผมกับไอ้เด่นไม่เกาะกันนับตั้งแต่วันแรกพบ ผมหมั่นไส้มาดของมันที่นั่งชูคอประดับบารมีผู้ว่าฯ มองพวก ข้าราชการชายหญิงที่มาช่วยเสิร์ฟเครื่องดื่มรับรองคณะที่มาส่งด้วยท่าทางอย่างที่คนโบราณเขาเรียกว่าวางท่าเหมือนหมาท่านหมื่น ยังไงยังงั้น

ความจริง ในสถานการณ์เข้าด้ายเข้าเข็มที่บรรดาพ่อค้า, เจ้าของ บ่อน ฯลฯ เข้าเฝ้ามอบของขวัญกันวุ่นวาย คล้ายๆกับจะขอปวารณาตัวเป็นข้ารับใช้นั้น ผมไม่อยากจะเข้าไปเสนอหน้าหรอกครับ|

แต่ที่จําเป็นต้องเข้าไปเพราะท่านสั่งให้คุณบุญเกิด จ่าจังหวัดไปตาม

ผมโค้งคํานับ รายงานตัวตาม ธรรมเนียม

“ผม ร.ต.พิมล สุวรรณสุภา ปลัดอําเภอ รักษาราชการแทนนายอําเภอเมืองครับผม”

ท่านมองดูผมตั้งแต่หัวจรดเท้าแล้วถามขึ้นด้วยน้ําเสียงแสดงอํานาจว่า

“นายอําเภอเมืองหายหัวไปไหนเสียล่ะ รู้ว่าผมมารับตําแหน่งวันนี้ ก็น่าจะอยู่พบหน้ากัน”

ข้าราชการหลายคนหน้าเสียเงียบงันด้วยความเป็นห่วงนายอําเภอ ที่ทําให้ท่านไม่สบอารมณ์

“กรมฯสั่งให้ไปพบเรื่องของบประมาณสร้างเขื่อนครับ” ผมกลั้นใจตอบ

“งั้นก็แล้วไป” เสียงท่านอ่อนลง

“ที่เรียกมาก็อยากจะให้เปลี่ยนป้ายบ้านพักจากป้ายเดิม บ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัด เป็น จวนผู้ว่าราชการจังหวัด ผมอยู่จังหวัดไหนต้องอยู่จวนไม่ใช่บ้านพัก”

“แหม, ทางนี้น่าจะรู้นะเจ้าคะ ไม่น่าที่จะต้องให้ท่านเรียกมาสั่งให้เสียเวลา” คุณนายปลัดจังหวัดซึ่งร่วมมาในคณะ ตอแหลขึ้นมาด้วยเสียงอ่อนเสียงหวาน

ผมจําใจต้องรับคํา แต่ก็อดนึกด่าอยู่ในใจไม่ได้ว่า ไอ้บ้ายศบ้าตําแหน่ง ป้ายบ้านพักที่ติดอยู่ในปัจจุบันก็ใหญ่โตสวยงาม และเพิ่งจะเปลี่ยนใหม่ก่อนที่ผู้ว่าฯคนก่อนจะย้ายออกไปไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ เพียงแต่ใช้คําว่า บ้านพัก ไม่ได้ใช้ จวน เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผมสนองตัณหาให้ท่านได้สมใจอยากโดยไม่ยากอะไร เพียงแต่ไปเปรยๆให้ป่าไม้อําเภอกับโกตี๋ผู้รับเหมาผูกขาดประจําอําเภอทราบเท่านั้น รุ่งขึ้นป้ายไม้สัก
จวนผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ไปติดหราแทนป้ายเก่า รวดเร็วทันใจปานกามนิตหนุ่ม

เรื่องนี้จะไม่สมบูรณ์ถ้าผมไม่ได้อธิบายที่มาของคําว่า จวน ให้ได้รับทราบกันไว้บ้าง

ผมสนใจคํานี้และค้นหาที่มาอยู่นานจากผู้อาวุโสหลายท่าน จนกระทั่งได้รับคําตอบที่ค่อนข้างจะมีเหตุผลว่าคํานี้ความจริงเป็นคําธรรมดาๆ คนปักษ์ใต้บ้านผมหมายถึง
พบกัน ในสมัยก่อนบ้านเมืองยังไม่เจริญ สถานที่ใหญ่ๆ เช่น ศูนย์การค้า, ห้างสรรพ สินค้า, โรงภาพยนตร์ดังๆยังไม่มี ชาวบ้านจะนัดพบกันแต่ละทีก็ไม่ทราบจะกําหนดจุดนัดหมายกันที่ไหน จะมีแต่บ้านหรือเรือนเจ้าเมืองเท่านั้นที่เป็นจุดเด่น ใคร ๆก็รู้จัก จึงจะนัดกันว่าไปจวนกันที่เรือนเจ้าเมือง นานๆเข้าจึงกลายเป็นจวนเจ้าเมืองไปโดยปริยาย

ขอวกกลับมาที่เรื่องของไอ้เด่นตัวเอกของเรื่องนี้อีกครั้ง ยามที่มันกําลังมีวาสนาก็คอยแต่จะฮึ่มฮั่มเอากับพวกข้าราชการชั้นผู้น้อย และชาวบ้านระดับตาสีตาสาที่มาร้องทุกข์ขอความเป็นธรรม จนเป็นที่หวาดหวั่นกันทั่วไป ครั้นเมื่อคราที่มันสิ้นวาสนาชะตาขาด จะหาใครที่เวทนาหรือหลั่งน้ําตาให้มันสักคนก็ทั้งยาก จะมีก็มีแต่คนสมน้ําหน้า ผมจึงว่าชีวิตของมันน่าจะเป็นบทเรียนที่ดีสําหรับผู้มีอํานาจวาสนาในสังคมปัจจุบัน

จ่าบุญเกิด กําแพงแก้ว จ่าจังหวัดผู้เป็นหัวหน้ารับผิดชอบงานธุรการของฝ่ายปกครองจังหวัด เป็นอีกคนหนึ่งละที่เกลียดไอ้เด่นเข้าไส้ เพราะโดนมันกรรโชกใส่เสมอ ๆ เวลาถือแฟ้มไปให้ผู้ว่าฯเซ็นในยามบ่าย ซึ่งท่านมักจะนอนเซ็นงานอยู่ที่จวนเป็นประจํา

จนกระทั่งวันหนึ่ง จ่าบุญเกิดหรือพี่บุญเกิดของพวกปลัดอําเภอเดินยิ้มแป้นขึ้นมาบนอําเภอเมือง

“ไงครับ พี่จ่า” ผมทัก

“ได้สองขั้นอีกแล้วละซิ ถึงได้หน้าบานเป็นจานเชิงมาแต่ไกล”

“เฮ้ย ไม่ใช่ แต่ผมรู้วิธีผูกมิตรกับไอ้เด่นแล้ว โง่เสียตั้งนาน” จ่าบุญเกิดบอก

“ขยายให้ผมฟังบ้างซิ ผมคนหนึ่งละที่มันไม่ชอบหน้า เลยขยาดไม่อยากเข้าบ้านท่าน”

“ตั้งใจมาบอกให้อยู่แล้ว แต่ว่าข้าวกลางวันหนึ่งมื้อนะ” จ่าบุญเกิดยักท่า

ที่ร้านอาหารข้างอําเภอ จ่าบุญเกิดเปิดเผยเคล็ดลับวิธีผูกมิตรกับไอ้เด่นให้ผมฟังอย่างสิ้นไส้สิ้นพุง

“เถ้าแก่ตงเจ้าของอู่ซ่อมรถและร้านขายอะไหล่เครื่องจักรกลซิครับ บอกเคล็ดลับวิธีเข้าจวนโดยผ่านด่านไอ้เด่นได้อย่างปลอดภัยให้ผม แกว่าพวกพ่อค้าเขารู้กันทั่วแล้ว หนึ่งต้องแต่งตัวดี ยิ่งนั่งรถเก๋งเข้าไปยิ่งดีใหญ่ สอง อันนี้สําคัญมาก จะต้องถือห่อหรือกล่องของขวัญติดไม้ติดมือไปด้วย เท่านั้นแหละไอ้เด่นจะเงียบเหมือนเป่าสาก แต่ถ้าแต่งตัวปอนๆ รองเท้าก็ไม่สวม แถมไม่มีกล่องติดไม้ติดมือ เข้าไปด้วย ก็อย่าหวังจะผ่านด่านของมันเข้าไปได้”

“แล้วถ้าเป็นจําพวก กล้วย อ้อยหรือชะลอมผลไม้ล่ะ” ผมซัก เพราะชาวบ้านมักจะชอบเอาไปฝากผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ

“ของไร้มูลค่าอย่างนี้อย่าเสี่ยงเอาเข้าไปดีกว่า อาจไม่อยู่ในสายตาของไอ้เด่นมัน” จ่าบุญเกิดให้ความเห็น

ต่อมาผมสังเกตเห็นว่าบุญเกิดญาติดีกับไอ้เด่น ทั้งๆที่เดินเข้าเดินออกจวนผู้ว่าฯโดยไม่ได้ถือกล่องของขวัญใดๆทั้งสิ้น แถมไอ้เด่นจะวิ่งออกมาต้อนรับ ครางหงิงๆพันแข้งพันขา จ่าบุญเกิดเป็นพัลวัน

ผมอดรนทนไม่ได้จึงถามว่า

“เอ๊ะ, ผมไม่เห็นจ่าถืออะไรเข้าจวนเหมือนที่เล่าให้ผมฟังเลยนี่”

“ไม่จําเป็นครับ เมื่อผมได้ฟังเคล็ดลับจากเถ้าแก่ตงแล้ว ผมก็เข้าใจสันดานของไอ้เด่นมัน ก็ในเมื่อมันโลภในการแสวงหาผลประโยชน์ให้นายของมัน เพื่อแลกกับผลตอบแทนที่นายของมันจะหยิบยื่นเศษๆให้ แล้วถ้ามีโอกาสทําไมมันจะไม่รับผลประโยชน์ที่มีผู้หยิบยื่นให้มันโดยตรงล่ะ ด้วยทฤษฎีนี้ ก่อนเข้าจวนทุกครั้ง ผมจะแวะซื้อกระดูกหมู, ซี่โครงหมู จากแม่ค้าในตลาดสดมาฝากมันทุกครั้ง”

เมื่อเห็นผมนิ่งฟังด้วยความสนใจ จ่าบุญเกิดจึงถามขึ้นว่า

“คราวนี้ถึงบางอ้อแล้วยังล่ะ ท่านปลัด”

“ถึงแล้วครับ เพิ่งรู้ว่าพี่ติดสินบนได้แม้กระทั่งหมา” ผมแซว

“ไม่ถึงกับติดสินบนหรอกน่าแค่ประจบนิดหน่อยเท่านั้น อย่าลืมล่ะไอ้น้อง นักปกครองนั้นต้องรู้จักพลิกผันให้ทันทุกสถานการณ์ มัวแต่ทื่อมะลื่องมโข่งอยู่กับงานอย่างเดียว ชาติหน้าบ่ายๆ ก็อย่าหวังเลยว่าจะได้แอ้มตําแหน่งนายอําเภอ” จ่าบุญเกิด สวนออกมาทันควันแกมสอนแกมด่า

แต่อย่างไรก็ตาม ผมยังภูมิใจว่าตั้งแต่ผมรับราชการเป็นปลัดอําเภอถึงรองผู้ว่าราชการจังหวัด ผมไม่เคยประจบแม้กระทั่งหมาเหมือนจ่าบุญเกิด

อีกหลายเดือนต่อมา ไอ้เด่นหายไป ไม่มีใครเห็นว่ามันหายไปไหน และทําไมท่านผู้ว่าฯจึงไม่เอ่ยถึงมันสักคํา เรื่องนี้เป็นปริศนาดํามืดที่พวกเราซุบซิบกันมาโดยตลอด แต่ไม่มีใครกล้าปริปากถามท่าน

จนกระทั่งเย็นวันหนึ่ง ท่านผู้ว่าฯกับคุณนายเข้ากรุงเทพฯ ผมฉวยโอกาสเข้าไปเดินเล่นในจวนจึงได้พบลุงจอน คนสวนซึ่งกําลังสะเงาะ สะแงะอยู่กับเหล้าขาว ๒๘ ดีกรี

ผมแกล้งถามลุงจอนว่า “หมู่นี้ไอ้เด่นหายไปไหนล่ะครับ ลุง”

“บอกแล้วเหยียบทิ้งไว้ตรงนี้นะ ผมฝังมันเอง”

“เฮ้ย” ผมร้องออกมาอย่างไม่เชื่อหู

“จริงๆ” ลุงจอนย้ำ “ท่านสั่งผม”

แล้วความลับในวันถึงฆาตของไอ้เด่นก็พรั่งพรูออกมาจากปากของลุงจอน หลังจากที่ผมสั่งเหล้าขาวมา เพิ่มให้เป็นขวดที่สอง

“วันนั้น ขณะที่ผมนั่งดายหญ้าอยู่ริมจวน ผมเห็นผู้หญิงคนหนึ่งนั่งสามล้อเข้ามา ผมจําไม่ได้เหมือนกันว่าเป็นใคร แถมมามือเปล่าเสียด้วย ไอ้เด่นกระโจนเข้าใส่ เห่ากรรโชก ผมเห็นผู้หญิงคนนั้นคว้าไม้ข้างทางหวดเข้าใส่ ผมคิดว่า ความที่มันไม่เคยมีใครสู้ มีแต่หนี มันจึงตกใจโผนเข้างับมือทันที ผมวิ่งเข้ามาหวังจะช่วย แต่ไม่ทันการณ์ เมื่อเข้ามาใกล้ผมตกใจแทบช็อค เพราะผู้หญิงที่ถูกจับมือ เป็นแผลเลือดไหลโกรกนั้น คือคุณนายท่านผู้ว่าฯ”

“แล้วไงต่อไป” ผมเร่ง เมื่อเห็นลุงจอนมัวแต่จะกรอกเหล้าลงกระเพาะ

“เรื่องนี้ผมเสี่ยงถูกไล่ออก ถ้าคุณปลัดเอาไปเล่าต่อ ต้องขออีกขวดนะครับ” ลุงจอนต่อรอง

“เอาน่า ผมให้อีก ๒ ขวด” ผมรับรองแข็งขัน

ลุงจอนจึงเริ่มเล่าต่อไปว่า

“ท่านผู้ว่าฯได้ยินเสียงคุณนายกรีดร้องเสียงหลงจึงวิ่งออกมา เมื่อเห็นแผลเหวอะหวะที่มือคุณนายเท่านั้นท่านโกรธสุดขีด ลั่นกระสุนปืนรีวอลเว่อร์ .๓๘ ใส่ไอ้เด่นจนหมดลูกโม่ ตอนที่ท่านสั่งให้ผมลากมันไปฝังไว้ใต้ต้นมะพร้าวนั้น ผมดูแววตาของมันที่เบิ่งค้างฉงนฉงาย เสมือนกับจะถามท่านว่า มันทําผิดคิดร้ายอะไร ถึงกับจะต้องเอาชีวิตกัน ซื่อสัตย์ก็ซื่อสัตย์ จงรักภักดีก็ไม่เคยเสื่อมคลาย เคยสอนให้เห่าคนไม่ถือของขวัญเข้ามาในจวนก็ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แถมไม่เคยทําร้ายใคร เว้นรายนี้เท่านั้นที่เป็นการป้องกันตัวสมควรแก่เหตุ เพราะถูกฟาดด้วยไม้เข้าก่อน” 

“เป็นไปได้อย่างไรกัน ที่ไอ้เด่นจําคุณนายไม่ได้” ผมถามลุงจอนด้วยความฉงน แล้วก็ได้รับฟังคําตอบจากลุงจอนดังนี้

“จะจําได้ยังไงกันครับ ทุกทีคุณนายท่านนั่งรถเบนซ์ แต่วันนั้นท่านดันนั่งสามล้อเข้ามา ของขวัญของเขวินก็ไม่มีติดมือ และที่สําคัญท่านไปเสริมสวยเสียเปิดสะก๊าด ทรงผมงี้เปลี่ยนจากผมมวยไปซอยเสียสั้นเหมือนสาวรุ่น ผมยังจําไม่ได้แล้วไอ้เด่นจะจําได้ไง”

ร.ต.พิมล สุวรรณสุภา - หมาเจ้าเมือง

หนังสือต่วย'ตูน เดือนมกราคม ๒๕๔๑ ปักษ์หลัง

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest
LinkedIn

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Photobook

Highlight

Back Issues

On Key

Related Posts

รบกับเจ็ก

รบกับเจ็ก ประสงค์ บานชื่น ทางสื่อมวลชน เช่นวิทยุ โทรทัศน์ (เอ๊ย, ยังไม่มี) และหนังสือพิมพ์ ว่า “เชื่อผู้นําชาติพ้นภัย” “มาลานําไทยสู่มหาอํานาจ”

มวยแขก

ชุดแขกอมยิ้ม มวยแขก ชัยชนะ โพธิวาระ คุยกับแขกไม่ว่าเรื่องใดก็ตามอาบังแกต้องมีเรื่องมาเกทับคู่สนทนาอยู่เสมอ เช่นคุยถึงเรื่องรถแขกเขาต้องบอกว่ารถที่ผลิตในอินเดียแข็งแกร่งที่สุด รูปร่างที่สวยงาม แถมชื่อยังไพเราะซะด้วยคือยี่ห่อแอมบาสดอร์ ยิ่งมอเตอร์ไซค์ยิ่งชื่อเพราะใหญ่คือยี่ห้อ YEZDEE ถ้าคุยถึงเรื่องพระเจ้าบังแกก็จะคุยจนน้ําลายฟูมปากอีกนะแหละว่าอินเดียเป็นดินแดนของพระเจ้าและมีพระเจ้าอยู่ที่นี่มากที่สุด เรียกว่าคุยเรื่องไหนมาแขกเป็นคุยทับไปได้อย่างสบาย

“โอฬาร” – หนังสือหัวเตียง

หนังสือหัวเตียง “โอฬาร” เมื่อเดือนก่อนมีนักเขียนชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งแวะมาหาผมที่สํานักงาน “สตูดิโอ เท็น” ถนนอรรถการประสิทธิ์ ตอนนั้นสิบโมงเช้าแล้ว ผมกําลังนั่งดูเพื่อนฝูงเขาตัดต่อภาพยนตร์สารคดีท่องเที่ยว ชุด “ชีพจรลงเท้า” อยู่ นักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้นั้นยังหนุ่มอยู่

ตะเกียงเจ้าพายุดวงนั้น – ปัญญา ฤกษ์อุไร

ปัญญา ฤกษ์อุไร ชุดทางไปสู่จวน ตะเกียงเจ้าพายุดวงนั้น ปัญญา ฤกษ์อุไร หลังจากที่ปลัดเชิดและข้าพเจ้า กับนายพันเสมียนมหาดไทย ออกไปทําตั๋วรูปพรรณควาย ที่ตําบลตาพระยา ในคราวนั้นแล้วก็เว้นระยะไปประมาณ ๒-๓

ชีวิตเสมียนจ้าง-บัญชีผี

ชุดทางไปสู่จวน ชีวิตเสมียนจ้าง-บัญชีผี ปัญญา ฤกษ์อุไร วันนั้นเป็นวันจันทร์ตอนต้น ๆ เดือน ข้าพเจ้าไปอําเภอแต่เช้า เพราะเป็นวันที่นายอําเภอให้ข้าพเจ้าไปเริ่มทํางานเป็นเสมียนจ้างได้ เมื่อข้าพเจ้าไปถึงอําเภอนั้นเป็น เวลาแปดโมงเศษ ๆ

ชีวิตเมื่อปลายสงครามมหาเอเชียบูรพา

ชุดทางไปสู่จวน ชีวิตเมื่อปลายสงครามมหาเอเชียบูรพา ปัญญา ฤกษ์อุไร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ อันเป็นปีที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ กําลังจะยุติ ข้าพเจ้าติดตามพ่อไปศึกษาอยู่โรงเรียนประจําอําเภอปากพนัง ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลชาย