Recommend

Recent Posts

Nylon Guys 1 : มาริโอ้ เมาเร่อ

NYLONGuys Thailand 1 : มาริโอ้ เมาเร่อ SUPER MARIO มาริโอ้ เมาเร่อ ดังยกกำลังสอง AMERICAN BOY Model Mario Maurer (มาริโอ้ เมาเร่อ) ภาพ J.SURAT

IMAGE February 2014

IMAGE Magazine vol.27 no.2 February 2014 METAPHORIC Model ญาดา วิลลาเรจ, พิติ ชินสำราญ & ณัฐกฤต เกษตรภิบาล Stylist Benyada Pruedihinalin Photographer Punsiri

ชีวิตเสมียนจ้าง-บัญชีผี

ชุดทางไปสู่จวน

ชีวิตเสมียนจ้าง-บัญชีผี

ปัญญา ฤกษ์อุไร

วันนั้นเป็นวันจันทร์ตอนต้น ๆ เดือน ข้าพเจ้าไปอําเภอแต่เช้า เพราะเป็นวันที่นายอําเภอให้ข้าพเจ้าไปเริ่มทํางานเป็นเสมียนจ้างได้ เมื่อข้าพเจ้าไปถึงอําเภอนั้นเป็น เวลาแปดโมงเศษ ๆ ข้าราชการบนอําเภอยังไม่มี คงมีแต่ภารโรงทําหน้าที่ปัดกวาดเปิดประตูหน้าต่างกันอยู่อย่างสบายอารมย์

สมัยนั้นข้าราชการทํางาน ๙ โมงเช้า เลิก ๔ โมงเย็น หรือ ๙.๐๐ น. ถึง ๑๖.๐๐ น. วันเสาร์ทํางานครึ่งวัน คือตั้งแต่ ๓ โมงเช้าถึงเที่ยง ไม่ใช่เข้า ๘.๓๐ น. และเลิก ๑๖.๓๐ น. เหมือนอย่างทุกวันนี้

ที่อําเภอมีป้ายคําขวัญของ พณฯ ท่านจอมพล ป. อยู่หลายแผ่นเช่น “เชื่อผู้นําชาติพ้นภัย” “มาลานําไทยไปสู่มหาอํานาจ” เช้า ๆ ทุกเช้าจะได้ยินเสียงเพลงไก่แก้วขานขันแสงจันทร์สิ้นแสง……ท้องฟ้าสีแดงพระอาทิตย์เริ่มฉาย…..ตื่นเถิดชาวไทย เราอย่าง่วงเหงาหลับสบาย….การงานมากหลายเราต้องรีบลุกขึ้นทํา…บ้านเมืองจะเรืองรุ่งเพราะไทยมุงใจจดจํา…..ว่าชาวไทยจะต้องทําประเทศไทยให้เจริญ”

“บางครั้งก็สลับด้วยเพลงตื่นเถิดชาวไทย อย่าหลับไหลลุ่มหลง ชาติจะเรื่องดํารงค์ก็เพราะเราทั้งหลาย ถ้ามัวหลับมัวหลงเราก็คงละลาย เราต้องเร่งขวนขวาย ตื่นเถิดชาวไทย” เพลงเหล่านี้เป็นเพลงปลุกใจในสมัยนั้น ซึ่งเนื้อร้องส่วนใหญ่มาจากบทประพันธ์ของคุณหลวงวิจิตรวาทการ

สมัยข้าพเจ้าเป็นเด็ก ๆ ได้ยินเพลงเหล่านี้แล้วรู้สึกคึกคักตื่นเต้น เป็นเพลงเร้าใจให้เกิดความรักชาติบ้านเมืองไม่น้อย ซึ่งยังจําเนื้อร้องเหล่านี้ได้จนกระทั่งบัดนี้ ต่างกับเดี๋ยวนี้ตื่นขึ้นมาถ้าไม่ได้ยินเสียง บ่ม ๆ ๆ กลั่น ๆ ๆ แล้วก็อาจได้ยินเสียงเพลงดิสโก้ให้ฟังสลับกันไป จะเป็นการปลูกฝังเด็กให้รักชาติมากหรือน้อยอย่างไรก็คิดดูกันเอาเองเถิด

ข้าราชการอําเภอส่วนใหญ่ ยังมัวดื่มกาแฟคุยกันเสียงเฮฮาอยู่ที่ร้านโกเข่ง ซึ่งเป็นร้านกาแฟร้านเดียวข้างอําเภอที่หากินกับข้าราชการบนอําเภอ และประชาชนที่มาติดต่อราชการบนอําเภอ

บรรดาเรื่องที่คุยกันก็มีมากมายหลายเรื่อง นับตั้งแต่กิจการบ้านเมือง ข่าวประจําวัน และที่สุดก็นินทานายอําเภอบ้าง นินทาปลัดอําเภอบ้าง ตามธรรมเนียมของข้าราชการทั่วไปมักจะสรุปลงตรงที่นินทานายเสียเป็นส่วนใหญ่

ประชาชนเริ่มทะยอยกันมาติดต่อกับอําเภอเพิ่มขึ้นและมานั่งจับเจ่ารออยู่ใต้ถุนอําเภอเพิ่มขึ้นทุกที ประชาชนส่วนใหญ่มาจากอําเภอที่ห่างไกล เช่น ตําบลปากแพรก ตําบลท่าพระยา ตําบลแหลมตะลุมพุก เป็นต้น จึงต้องรีบมาแต่เช้าเพื่อจะรีบติดต่องานอําเภอให้เสร็จก่อนเที่ยง จะไปตลาดซื้อของกินของใช้แล้วก็เดินทางกลับบ้าน เพราะไม่มีบ้านญาติที่จะค้างคืนที่ตัวอําเภอได้ ถ้าทําธุระไม่เสร็จในวันเดียวก็ต้องค้างโรงแรมค่าโรงแรมคืนละ ๑๕-๒๐ บาท ซึ่งก็เป็นเงินไม่น้อยสําหรับชาวไร่ชาวนาจน ๆ ในสมัยนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าเขาสามารถทําธุระทางอําเภอเสร็จเร็วเท่าไรเขาจะดีใจมากเท่านั้น ข้อนี้เป็นเหตุหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ข้าราชการอําเภอชั้นผู้น้อยรีดไถประชาชนที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วได้ง่าย โดยรับเดินเรื่องให้เองและก็ได้เสร็จเร็วสมความตั้งใจ แต่ชาวไร่ชาวนาผู้มาติดต่ออําเภอต้องเสียเงินถึง ๒๐ บาท แทนที่จะเสียเพียง ๒ บาท เฉพาะค่าคําร้องเท่านั้น

พฤติกรรมเช่นว่านี้ไม่ยุติธรรมเลย สําหรับชาวไร่ชาวนาผู้ต่ำการศึกษา และไม่รู้วิธีการติดต่อกับราชการบนอําเภอและส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ แต่ก็เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อเชื่อวันยังไม่มีใครแก้ไขให้เด็ดขาดได้ อย่าว่าแต่อําเภอชั้นนอกห่างไกลปืนเที่ยงเลย แม้แต่ที่ทําการเขตต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ก็เถอะ เรื่องอย่างนี้ก็อาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ กรมมหาดไทยในสมัยนั้น และแม้แต่กรมการปกครองในสมัยนี้ก็ได้พยายามแก้ไขปรับปรุงตลอดมา แต่ก็เป็นเรื่องยากเพราะอยู่ที่คนและน้ําใจของคนที่เป็นข้าราชการบนอําเภอ ถ้าเขาปราศจากความเห็นใจประชาชนผู้ยากไร้เสียแล้ว ก็ยากที่จะไปควบคุมเขาได้ เพราะเจ้านายไม่ได้ควบคุมเขาอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ฉะนั้นความใจดีใจร้ายความเมตตาหรือความทารุณต่อเพื่อนมนุษย์ตาดําๆ ก็สุดแต่บรรดาข้าราชการเหล่านั้นจะเป็นผู้หยิบยื่นให้ สวรรค์กับนรกอยู่ใกล้กันแค่เอื้อม แล้วแต่ว่าเขาจะเลือกเดินไปทางใด

ข้าพเจ้าไปนั่งรอนายอําเภออยู่จนถึงเวลาประมาณเก้าโมงเศษ ๆ นายอําเภอก็มา ข้าพเจ้าเดินตามหลังขึ้นไปบนอําเภอเสียงจ๊อกแจกจอแจเงียบหายไปในบัดดล

นายอําเภอสมัยนั้นมีอํานาจมาก อํานาจทั้งหมดอยู่ที่นายอําเภอ รวมทั้งอํานาจการสอบสวนคดีอาญาด้วย เพราะฉะนั้นการที่ตํารวจจะตั้งบ่อนคุมซ่องค้าเฮโรอีน หรือรีดไถประชาชนเหมือนอย่างสมัยนี้ทําได้ยาก เพราะถ้ามีคดีร้องเรียนเกิดขึ้น ทางอําเภอเป็นผู้สอบสวน ตํารวจก็เกรงกลัวเพราะไม่มีใครช่วยเหลือ ไม่เหมือนอย่างสมัยนี้ซึ่งตํารวจจะทําอะไรก็ได้ทั้งนั้น ถ้าหากมีเรื่องร้องเรียนขึ้นมาพอดีพอร้าย เจ้านายทางตํารวจก็ต้องช่วยลูกน้องเอาไว้ก่อนเป็นเหตุให้ตํารวจได้ใจ ไม่ค่อยจะเกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ทําอะไรตามอําเภอใจตัว ไม่มีหน่วยงานที่จะควบคุมตํารวจอีกต่อหนึ่ง นอกจากผู้บังคับบัญชาตํารวจซึ่งก็ย่อมช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ผลที่สุดตกหนักแก่ราษฎร เรียกได้ว่าไพร่ฟ้าหน้ามืด ไม่ใช่ไพร่ฟ้าหน้าใสดังแต่ก่อน

สมัยนั้นยังไม่มีระบบตามกันอเมริกัน หรือที่เราเรียกกันโก้โก้ว่าระบบ พี.ซี. ที่ผู้สําเร็จปริญญาออกมาติด ๒ ขีดใหญ่ป๋อ กินเงินเดือน ๒-๓ พันบาท แต่เป็นระบบชั้นเอก โท ตรี จัตวา นายอําเภออย่างมากก็แค่ชั้นโท ปลัดอําเภอโทสมัยนั้นยังไม่มี รองจากนายอําเภอก็ถึงปลัดอําเภอตรีและปลัดอําเภอจัตวา ซึ่งถ้านายอําเภอและปลัดอําเภอตรีไม่อยู่ก็มีอํานาจเท่ากับนายอําเภอทุกประการ

อําเภอที่มีนายอําเภอเป็นข้าราชการชั้นเอกมีเพียงไม่กี่อําเภอ เฉพาะที่มีศาลจังหวัดตั้งอยู่เท่านั้น เท่าที่ทราบก็มี อําเภอภูเขียว อําเภอธัญญบุรี อําเภอแม่สอด อําเภออรัญประเทศ อําเภอปากพนัง อําเภอเบตง อําเภอไชยา และอําเภอพะเยาว์เป็นต้น

ข้าพเจ้าเดินตามนายอําเภอเข้าไปในห้องทํางาน ท่านนั่งลงที่โต๊ะทํางาน พลางกดกริ่งเรียกเด็กหน้าห้องให้ไปตาม

ปลัดเชิดเข้ามา สักครู่หนึ่งปลัดเชิดเดินตัวคู้ ๆ เข้ามาหานายอําเภอ คํานับหนึ่งครั้ง นายอําเภอบอกให้นั่งลง

“ผมต้องฝากเด็กเสมียนจ้าง ให้ปลัดเชิดช่วยดูแล อบรมสั่งสอนด้วยสักคน เพราะพ่อเขาเป็นเพื่อนกับผม หวังว่าคุณปลัดคงจะเต็มใจช่วยเหลือตามสมควร”

“ขอรับกระผมเต็มใจอย่างยิ่งมีอะไรผมจะสั่งสอนว่ากล่าว”

“เด็กคนนี้มีแววฉลาดอยู่ไม่น้อย ถ้าคุณปลัดอบรมสั่งสอนดี ๆ อาจเป็นกําลังสําคัญต่อไปในภายภาคหน้า และอาจก้าวหน้าต่อไปในอนาคตได้ หากมีเหตุขัดข้องหรือมีปัญหาอย่างใด กรุณาบอกผมให้ทราบด้วยเพราะพ่อเขาฝากมา”

“ครับผม” ปลัดเชิดรับคําอย่างหนักแน่น

“ถ้าอย่างนั้นคุณปลัดพาหลานชายออกไปทํางานได้ตั้งแต่บัดนี้เลยทีเดียว” นายอําเภอสั่ง

“ครับผม” ปลัดเชิดรับคําอย่างแข็งขัน

ข้าพเจ้าเดินตามปลัดเชิดออกจากห้องนายอําเภอมาจนถึงระเบียงอําเภอหน้าห้องปลัดเชิด เห็นมีโต๊ะเล็ก ๆ ตั้งอยู่ ๆ ๒-๓ ตัวพร้อมเก้าอี้อีก ๒-๓ ตัว

“ตรงนี้แหละที่นั่งพวกเสมียนจ้างหรือพวกลูกเหมียน” ปลัดเชิดบอกข้าพเจ้า

“เอ็งต้องนั่งตรงนี้เวลามีราษฎรมาติดต่อ เอ็งต้องถามเขาว่ามาเรื่องอะไร ถ้าเกี่ยวกับการคัดสําเนาหรือขอใบสําคัญรับรองต่าง ๆ เอ็งต้องบอกให้เขาเขียนคําร้องเสียก่อน ถ้าไม่มีคําร้องเราไม่รับพิจารณาเพราะไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร เอ็งเข้าใจไหม ?” เขาถามข้าพเจ้า

“ถ้าเขาเขียนคําร้องไม่เป็นละครับ” ข้าพเจ้าสงสัย

“เอ็งก็เขียนให้เขาซิวะ ไม่อย่างนั้นแล้วเขาจะมีเสมียนจ้างหรือลูกเหมียนไว้หาอาวุธด้ามยาวอะไรล่ะ ?” ปลัดเชิด อธิบายพร้อมกับสําทับข้าพเจ้าไปด้วย

“เอ็งเขียนให้เขาแล้ว อย่าลืมเรียกค่าเขียนคําร้องไว้ ๒ บาท ค่าอากรแสตมป์ ๑ บาท รวม ๓ บาท แต่ถ้าเขาให้ใบละห้าหรือใบละสิบบาทมาเอ็งก็ทําเฉย ๆ เสีย ถ้าเขาไม่เอาเงินทอนเองก็ไม่ต้องทอน อ้างว่าเราไม่มีสตางค์ทอนก็ได้เอ็งเข้าใจไหม?” เขาแนะนํากลวิธีในการหาเงิน

“ไม่บาปหรือครับ ความจริงอากรแสตมป์แค่ ๒๐ สตางค์ เท่านั้น เราก็ไปเอาเขาตั้งบาท แถมเขาให้แบ้งค์ ๕ แบ้งค์ ๑๐ ยังไม่ยอมทอนอีก ผมคิดว่ามันไม่ยุติธรรมสําหรับคนบ้านนอกที่เขาโง่กว่าเรานะครับ” ข้าพเจ้าแย้ง

“อ้ายหน้าโง่ มัวแต่คิดถึงความยุติธรรมท้องเองก็แห้ง เอ็งจะเอาอย่างไรเลือกเอา” ปลัดเชิดอธิบายปรัชญาของเขา

“ถ้าเขาเกิดทักท้วงว่าอากรแสตมป์ ๒๐ สตางค์ ทําไมเอาเขาตั้งบาทแล้วเราจะแก้ตัวว่าอย่างไร” ข้าพเจ้าถาม

เราก็บอกว่าเราไม่มีเศษสตางค์ทอน ถ้าเขาจะเอาสตางค์ทอนให้ได้ ก็ให้เขาไปซื้อเอาเองที่แผนที่แผนกสรรพากรอําเภอ ซึ่งก็ต้องเสีย ๑ บาท เหมือนกัน เพราะเขาก็ใช้กุศโลบายอย่างเดียวกับพวกเรา ผลที่สุดเขาก็ต้องวิ่งมาหาเราจนได้ หมูจะต้องวิ่งเข้าเล้าเสมอจําไว้ไอ้หนู วันหนึ่งเมื่อเอ็งเป็นปลัดอําเภออย่างข้า เอ็งจะต้องเรียนรู้ เขาอธิบาย”

“ก็หมายความว่า เราจะหากินบนความโง่เขลาเบาปัญญาของผู้อื่นกระนั้นหรือ” ข้าพเจ้าชักไม่พอใจ

“แล้วแต่เอ็งจะคิด แต่ถ้าเอ็งมีจิตใจเมตตาปรานีคนยากจนและสงสารผู้อื่นจนทนไม่ไหวอย่างนี้ เอ็งต้องไปบวชไม่ต้องมาเป็นลูกเหมียนอําเภอให้เสียเวลา เพราะลูกเหมียนมีหน้าที่หาเงินเข้าอําเภอเป็นเงินกองกลาง เอ็งต้องเข้าใจและจดจําไว้เป็นเบื้องต้น เขาอธิบายต่อพลางมองหน้าข้าพเจ้าอย่างไม่สู้จะพอใจนัก

ข้าพเจ้าไม่อยากจะต่อล้อต่อเถียงกับคนคราวลุงคราวน้า ปลัดเชิดอายุ ๕๐ กว่า ทํางานมาตั้งแต่เป็นเสมียนจ้าง เสมียนสามัญและปลัดอําเภอจัตวา เขามีทัศนะคติอย่างหนึ่งซึ่งไม่ตรงกับข้าพเจ้า แต่การจะไปเถียงเขาไม่มีประโยชน์เพราะนายอําเภอมอบหมายให้เขาเป็นผู้ควบคุมดูแลข้าพเจ้าซึ่งก็เท่ากับเป็นผู้บังคับบัญชาข้าพเจ้านั่นเอง

ข้าพเจ้าหาได้ทําตามคําแนะนําของปลัดเชิดไม่ แต่กลับทําในทางตรงกันข้าม คือข้าพเจ้าเอาเงินส่วนตัวของข้าพเจ้าซึ่งมีอยู่ ๒ บาท ไปซื้ออากรแสตมป์ที่แผนกสรรพากรมา ๑๐ ดวง ๆ ละ ๒๐ สตางค์ เมื่อเขียนคําร้องเสร็จข้าพเจ้าก็เรียกเพียง ๒.๒๐ บาท ตามระเบียบที่กําหนดให้เท่านั้น ส่วนใหญ่เขาก็หาเศษสตางค์มาให้ข้าพเจ้าจนได้ วันต่อมาข้าพเจ้าไปแลกเศษสตางค์ที่คลังอําเภอแต่เช้า แลกเศษสตางค์ไว้เป็นจํานวนมาก เพื่อเอาไว้ทอนให้ลุงป้าน้าอาที่มาจากตําบล ไกล ๆ เพื่อเขาเหล่านั้นจะไม่เสียสตางค์มากกว่าที่จําเป็นต้องเสีย เพราะข้าพเจ้าเรียกค่าอากรแสตมป์เพียง ๒๐ สตางค์ และก็มีสตางค์ทอนเสมอ แถมบางคนไปเขียนคําร้องโต๊ะอื่นแต่มาขอซื้อแสตมป์โต๊ะข้าพเจ้า ก็มีบ่อยครั้งทำให้เสมียนจ้างอีก ๒ คน ขาดรายได้เท่าที่ควรจะได้โดยมิชอบไปวันละหลาย ๆ บาท

ด้วยเหตุนี้ต่อมามิช้ามินาน เรื่องจึงแดงขึ้นด้วยเสมียนจ้างอีก ๒ คนไปฟ้องปลัดเชิดว่า ข้าพเจ้าบ่อนทําลายขบวนการหาเงินจากการเขียนคําร้องของอําเภอ ทําให้รายได้ของ อําเภอตกต่ําลงไปมาก ข้าพเจ้าถูกปลัดเชิดเรียกตัวไปสอบสวนทันทีในตอนเช้าวันหนึ่ง

“เอ็งรู้ไหมว่าตั้งแต่เอ็งเข้ามาเป็นลูกเหมียนอยู่ที่นี่ เอ็งทําให้รายได้ของอําเภอตกต่ําลงไปมากมาย จนข้าพูดไม่ถูก” เขาบรรยายความคั่งแค้นออกมาให้ข้าพเจ้าฟัง

“ผมทําผิดคิดร้ายอะไรหรือครับ” ข้าพเจ้าแกล้งถาม

“เอ็งไม่ได้ทําผิดคิดร้ายอะไรหรอก แต่พฤติการที่เอ็งไปแลกเศษสตางค์ทอนก็ดี เอ็งไปซื้ออากรแสตมป์ก็ดีเป็นเรื่องที่เขาไม่ทํากัน และข้าก็ไม่เคยเห็นใครเขาทํากันมีแต่ เอ็งเท่านั้น” เขาขบเขี้ยวเคี้ยวฟันพูด

“ผมก็ไม่มีอะไรนะครับ นอกจากอยากจะอํานวยความสะดวกให้คุณลุงคุณป้าที่มาติดต่อให้เสร็จธุระเร็ว ๆ รีบกลับบ้านแต่วันและเสียเงินแต่น้อย ไม่ต้องเสียมากมายโดยไม่จําเป็น การอํานวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่มาติดต่อเป็นนโยบายของรัฐบาลอย่างหนึ่งมิใช่หรือ” ข้าพเจ้าโต้ตอบไม่ลดละ

“นโยบายอะไรกันทางอําเภอเรามีภาระมาก มีแขกไปใครมาไม่เว้นแต่ละวัน ต้องเลี้ยงรับรองเจ้านายมาตรวจงานแต่ละครั้งก็หลาย ๆ สตางค์ นายอําเภอมอบให้ข้าเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ ถ้าเอ็งขึ้นทําแบบนี้ข้ามิต้องล้มละลายหรือ” เขาต่อว่าข้าพเจ้าอย่างรุนแรง

“ถ้าเอ็งไม่หยุดขึ้นทําบ้า ๆ อย่างนี้อีก ข้าจะไล่เองออกเพราะเอ็งทําให้คนอื่น ๆ เขาพลอยกระทบกระเทือนไปด้วย” เขาขู่ข้าพเจ้า

ข้าพเจ้ามิได้รู้สึกเกรงกลัวแต่อย่างใดยังคงทําอย่างเดิมทุกประการ ยิ่งกว่านั้นในเดือนที่สองปรากฏว่ามีราษฎรที่มาติดต่อคอยติดต่อเฉพาะโต๊ะข้าพเจ้าเต็มไปหมด จนรอกันเป็นแถวยาว ส่วนเสมียนจ้างอีก ๒ คน นั่งหาวไม่ค่อยมีคนไปขอให้เขียนคําร้อง ทั้ง ๆ ที่ปลัดเชิดออกมาบอกหลายครั้งว่า เสมียนอีก ๒ คนยังว่าง แต่ราษฎรก็ไม่ยอมไป

จนกระทั่งเช้าวันหนึ่ง ข้าพเจ้าไปแลกเงินแต่เช้าเพื่อเอาเศษสตางค์ไว้ทอน เจ้าหน้าที่แผนกคลังบอกว่าไม่มีเศษสตางค์ให้แลก เมื่อไปซื้ออากรแสตมป์ เจ้าหน้าที่สรรพากรบอกว่าอากรแสตมป์ตอนนี้หมดยังเบิกมาจากจังหวัดไม่ได้

ข้าพเจ้าเริ่มพบอุปสรรคหลังจากสืบสวนเรื่องราวดูแล้วปรากฏว่าปลัดเชิดไปขอร้องเขาไว้ว่า อย่าให้ขายแสตมป์ให้ข้าพเจ้า คําร้องขอของปลัดเชิดได้ผล เพราะเจ้าหน้าที่แผนกคลังและสรรพากรต้องพึ่งพาอาศัยปลัดเชิด ส่วนข้าพเจ้าอาศัยอะไรไม่ได้

วันนั้นข้าพเจ้าอดรนทนไม่ได้ ตอนเย็นเมื่อเอาเงินไปส่งประมาณ ๓๐ บาท ถูกปลัดเชิดต่อว่าหาว่าข้าพเจ้าขี้เกียจ เขียนคําร้องทําให้ได้เงินน้อยกว่าเสมียนจ้างอีก ๒ คน ข้าพเจ้าโต้แย้งว่า ความจริงข้าพเจ้าเขียนถ้าจะนับจํานวนคนก็จะมีจํานวนมากกว่า แต่ที่ได้เงินน้อยกว่าเพราะข้าพเจ้าเรียกค่าเขียนตามที่กําหนดไว้ในระเบียบคือ ๒ บาท และค่าอากรแสตมป์ ๒๐ สตางค์ เท่านั้น ส่วนที่ ๒ คนนั้นได้เงินมากกว่าข้าพเจ้าก็เพราะไปเรียกเอาเงินจากราษฎรตามใจชอบบางครั้งเขาให้ใบละ ๕ ใบละ ๑๐ ก็ไม่ทอนให้เขา ทําให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก

ปลัดเชิดหัวเราะเหอะ ๆ พลางนับเงินให้ข้าพเจ้า ๘ บาท ส่วนอีก ๒๒ บาท ปลัดเช็ดเก็บใส่ลิ้นชักไว้แล้วปิดลิ้นชักทันที

“ผมเขียนคําร้องได้วันหนึ่ง ๆ ทั้ง ๓๐ กว่าบาททุกวันและทําไมท่านปลัดให้ผมเพียง ๘ บาท อย่างนี้ไม่ยุติธรรม”

“เอ็งนี่โง่จริงลูกเหมียนทุกคนได้เงินเป็นรายวันๆ ละ ๘ บาท เดือนละ ๒๔๐.- บาท ไม่มากไม่น้อยกว่านี้ ส่วนที่เหลือจากนั้น ทางอําเภอต้องเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดของอําเภอค่ารับรองเจ้านายค่าอะไรต่อมิอะไรอีกจิปาถะ แต่ละเดือนแทบไม่พอใช้เอ็งรู้ไหม คนอื่นเขาเขียนได้เงินมากแต่เอ็งได้เงินน้อยที่สุดแต่กลับมีปัญหามากที่สุด” ปลัดเชิดต่อว่าข้าพเจ้าพร้อมสั่นหัวไปมา

“แล้วเงินส่วนที่เหลือ ท่านปลัดเอาไปเข้าบัญชีอะไรมิทราบครับ”

“บัญชีผี” เขาตอบทันทีพร้อมกับจ้องหน้าข้าพเจ้า

“บัญชีผีอะไรกันครับ ไม่เห็นมีใครตายสักคนหรือเอาไว้ทําบุญเผาผีเวลาข้าราชการอําเภอตาย หรือเอาไว้ทําบุญเผาผีไม่มีญาติ” ข้าพเจ้าไม่วายสงสัย

“โธ่เอ๋ยเซ่อฉิบหายเด็กเปรตเผาพ่อเองน่ะซิ บัญชีผีหมายถึงบัญชีเงินนอกงบประมาณ ไม่ต้องเอาให้ ค.ต.ง. ตรวจ จะใช้จ่ายอะไรก็ได้ ไม่ต้องทําหลักฐานทางราชการ ไม่ใช่เก็บเงินเอาไว้เผาผีไม่มีญาติ อย่างที่เอ็งเข้าใจหรอก” ท่านปลัดอธิบายพร้อมทําปากแบะนัยตาถลน ๆ จะลุกขึ้นเตะข้าพเจ้าอยู่รอมร่อ ข้าพเจ้าเห็นท่าไม่ค่อยจะดีเลยรีบลุก
หนีไปเสีย

อย่างน้อยวันนั้นข้าพเจ้าก็ได้ความรู้เรื่องบัญชีผีพอสมควร.

ปัญญา ฤกษ์อุไร - ชีวิตเสมียนจ้าง-บัญชีผี

หนังสือต่วย'ตูน เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ ปีที่ ๙ เล่มที่ ๖

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest
LinkedIn

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Photobook

Highlight

Random

On Key

Related Posts

หมาเจ้าเมือง

หมาเจ้าเมือง ร.ต.พิมล สุวรรณสุภา อันว่าบุญวาสนาของสัตว์โลก ทั้งผองจะเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงนั้น ย่อมเป็นไปตามกฎแห่งกรรมของตนเองทั้งสิ้น ก่อกรรมใดที่ไม่ถูก กาลเทศะ, โลภโมโทสัน หรือเหิมเกริมจนลืมตนก็จะเป็นเหตุปัจจัยฉุดรั้งให้ต่ำลง แทนที่จะช่วยดึงให้สูงขึ้น สัจธรรมข้อนี้ผมได้มาจากชีวิตของ

จากน้ํามันถึงปลาทู

จากน้ํามันถึงปลาทู ยุติพงษ์ ตั้ง เมื่อพูดถึงการค้าระดับประเทศรอบ ๆ มหาสมุทรแปซิฟิกใต้ หรือนัยหนึ่งการตั้งตัวเป็นนายหน้าให้สินค้าผ่านมือไปสู่ประเทศคู่ขา ใครไม่รู้จักสิงคโปร์ก็บ้าแล้ว เมื่อสวัสดีกับเมืองโชนันในอดีตแล้ว ก็น่าจะเลยไปสัมผัสมือกับโก๊ะจกตง ทายาทมือระดับพระกาฬของลีกวนยิวไว้หน่อยก็จะดี อย่างน้อยก็ในฐานะของผู้สืบสายเลือดคนแรกที่ได้รับการถ่ายทอดวิทยายุทธ์ในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์อย่างครบถ้วนทุกกระบวนท่า

รบกับเจ็ก

รบกับเจ็ก ประสงค์ บานชื่น ทางสื่อมวลชน เช่นวิทยุ โทรทัศน์ (เอ๊ย, ยังไม่มี) และหนังสือพิมพ์ ว่า “เชื่อผู้นําชาติพ้นภัย” “มาลานําไทยสู่มหาอํานาจ”

มวยแขก

ชุดแขกอมยิ้ม มวยแขก ชัยชนะ โพธิวาระ คุยกับแขกไม่ว่าเรื่องใดก็ตามอาบังแกต้องมีเรื่องมาเกทับคู่สนทนาอยู่เสมอ เช่นคุยถึงเรื่องรถแขกเขาต้องบอกว่ารถที่ผลิตในอินเดียแข็งแกร่งที่สุด รูปร่างที่สวยงาม แถมชื่อยังไพเราะซะด้วยคือยี่ห่อแอมบาสดอร์ ยิ่งมอเตอร์ไซค์ยิ่งชื่อเพราะใหญ่คือยี่ห้อ YEZDEE ถ้าคุยถึงเรื่องพระเจ้าบังแกก็จะคุยจนน้ําลายฟูมปากอีกนะแหละว่าอินเดียเป็นดินแดนของพระเจ้าและมีพระเจ้าอยู่ที่นี่มากที่สุด เรียกว่าคุยเรื่องไหนมาแขกเป็นคุยทับไปได้อย่างสบาย

“โอฬาร” – หนังสือหัวเตียง

หนังสือหัวเตียง “โอฬาร” เมื่อเดือนก่อนมีนักเขียนชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งแวะมาหาผมที่สํานักงาน “สตูดิโอ เท็น” ถนนอรรถการประสิทธิ์ ตอนนั้นสิบโมงเช้าแล้ว ผมกําลังนั่งดูเพื่อนฝูงเขาตัดต่อภาพยนตร์สารคดีท่องเที่ยว ชุด “ชีพจรลงเท้า” อยู่ นักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้นั้นยังหนุ่มอยู่

คนเจริญลง?

คนเจริญลง? ประเทือง ใบมาก อันความเจริญมันต้องสูงขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าลดลงก็ต้องว่าความเสื่อม คําว่าเจริญลงไม่มีหรอก แต่พูดให้แปลกหูเสียงั้นแหละ เพื่อเรียกร้องความสนใจไงล่ะ เมื่อเกิดความสนใจหรือสดุดใจ ความสงสัยย่อมตามมาว่า เอ