ชีวิตเมื่อปลายสงครามมหาเอเชียบูรพา

ชุดทางไปสู่จวน

ชีวิตเมื่อปลายสงครามมหาเอเชียบูรพา

ปัญญา ฤกษ์อุไร

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ อันเป็นปีที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ กําลังจะยุติ ข้าพเจ้าติดตามพ่อไปศึกษาอยู่โรงเรียนประจําอําเภอปากพนัง ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลชาย สมัยนั้นการศึกษายังไม่พัฒนาเหมือนสมัยนี้ โรงเรียนชายกับโรงเรียนหญิงแยกกันเด็ดขาด ในชั้นมัธยม ๑ ถึง ๖ จะไม่มีการเรียนร่วมกันแบบสหศึกษา โรงเรียนชายก็เรียกว่าโรงเรียนรัฐบาลชาย ส่วนโรงเรียนหญิงก็แยกว่าโรงเรียนสตรีประจําอําเภอหรือไม่ก็โรงเรียนสตรีประจําจังหวัด ครูชายสอนโรงเรียนชายครูหญิงสอนโรงเรียนสตรี สําหรับโรงเรียนสตรีในสมัยนั้นทางกระทรวงศึกษา ฯ อนุญาตให้มีผู้ชายได้ ๒ คน คือ ครูพละคนหนึ่งและภารโรงอีกคนหนึ่งเท่านั้น

ความจริงข้าพเจ้าเกิดที่อําเภอพระนคร จังหวัดพระนคร ตําบลสําราญราษฎร์ตรงประตูผี แต่เนื่องจากพ่อเป็นครูและพ่อเป็นชาวสุราษฎร์ธานีโดยกําเนิด พ่อเลยหอบหิ้วข้าพเจ้าไปปักษ์ใต้ด้วย เพราะพ่อย้ายไปรับราชการที่อําเภอปากพนังจังหวัดนครศรีธรรมราช ข้าพเจ้าไปเริ่มเรียน ม. ๑ จนจบ ม. ๖ ที่โรงเรียนปากพนัง จนคนที่นั่นเข้าใจว่าข้าพเจ้าเป็นเด็กปากพนัง

ปีที่ข้าพเจ้าจะจบ ม. ๖ นั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นปีซึ่งข้าพเจ้าต้องประสบกับความตื่นเต้นที่สุดในชีวิต

เดือนมีนาคม ๒๔๘๘ ผลการสอบ ม. 5 ประกาศ ข้าพเจ้าเข้าสอบได้กับเขาคนหนึ่งรู้สึกดีใจมาก แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกมีปัญหาชีวิตเข้ามาให้ขบคิดหลายเรื่องหลายราวอยู่เหมือนกัน ปัญหาบางอย่างเราอาจแก้ไขด้วยตนเองได้ แต่ปัญหาบางอย่างเป็นเรื่องยากต้องอาศัยพ่อแม่หรือญาติพี่น้องช่วยแก้ไข

ข้าพเจ้าเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ๆ หนังสือของพ่อในตู้กี่เล่มข้าพเจ้าอ่านหมด โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตและคติชีวิต มีสุภาษิตอังกฤษอยู่บทหนึ่งว่า “โลกจะหลีกทางให้เราเสมอถ้าเรารู้ว่าเราจะไปทางไหน”

เมื่อจบ ม. ๖ เกิดปัญหาในใจข้าพเจ้าสองประการ คือประการแรกจะไปเรียนต่อชั้นเตรียมอุดมเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย ประการที่ ๒ ออกทํางานเป็นเสมียนหรือครูประชาบาล

ประการแรกต้องอาศัยพ่อเพราะต้องไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ถ้าพ่อไม่ส่งเงินให้ก็ไม่สามารถไปเล่าเรียนต่อได้ อย่างน้อยพ่อจะต้องส่งเงินให้เดือนละ ๒๐๐.-บาท จึงจะเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ได้

สําหรับประการที่สองนั้นไม่มีปัญหาเพราะพ่อมีเพื่อนมากจะฝากเข้าไปเป็นเสมียนอําเภอหรือเป็นครูประชาบาลก็ได้ไม่ยากนัก

ข้าพเจ้าได้นําเรื่องนี้ เข้าหารือพ่อในตอนเช้าวันหนึ่งเมื่อพ่อถามว่า “จบ ม. 6 แล้ว แกจะทําอะไร”

“ผมอยากจะไปเรียนเตรียมธรรมศาสตร์” ข้าพเจ้าได้โอกาส

“แกจะเอาเงินที่ไหนไปเรียน ?”

“ก้อให้พ่อส่งให้เดือนละ ๒๐๐.- บาท”

“ไม่ได้หรอกลูกเงินเดือนพ่อเดือนละ ๑,๐๐๐.- บาท พอสิ้นเดือนหักค่าโน่นค่านี่ ค่าข้าวค่ากับ ค่าเหล้ายาปลาปิ้งก็เหลือไม่ถึง ๒๐๐.- บาท สักเดือน และมีน้องต้องเรียนหนังสืออีกคนจะทํายังไง พ่อว่าสู้ไม่ไหวแน่อย่าเรียนเลยลูก….”

อนาคตและความฝันหวานเรื่องไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ หล่นลงไปกองอยู่ที่พื้น ข้าพเจ้าใจหายวูบ

“เลิกฝันเลิกคิดเรื่องเรียนต่อเสียเถอะลูก เรามันเกิดมาจนก็ต้องอยู่อย่างคนยากจน ต้องยอมรับสภาพความจริงเลิกทะเยอทะยานใฝ่ฝันจนเกินตัวเสียทีเถิดลูกเอ๋ย พ่อเป็นครูชั้นตรีลูกอย่างมากก็เป็นได้แค่เสมียนอําเภอ เพราะฐานะทางการเงินของเรานั้นจํากัดอยู่อย่างนี้ โปรดเห็นใจพ่อบ้าง “พ่อพยายามพูดปลอบใจข้าพเจ้าไม่ให้เสียอกเสียใจมากนัก

จริงหรือที่ว่าพ่อจนแล้วลูกต้องจนด้วย…..จริงหรือที่ว่าพ่อเป็นครูตรีแล้วลูกจะเป็นได้อย่างมากแค่เสมียนอำเภอ….ทฤษฎีอะไรกันไม่น่าเชื่อถือและไม่น่าจะเป็นไปได้ ข้าพเจ้ามีความคิดเห็นแย้งกับพ่อแต่ก็ไม่กล้าแสดงออกหรือพูดให้พ่อรู้ การที่เราเชื่อว่าถ้าเราจนลูกก็ต้องจนด้วย ถ้าเราอยู่สลัมลูกเราก็ต้องอยู่สลัมไม่มีวันจะอยู่คฤหาสน์ใหญ่โตได้ ถ้าพ่อเป็นข้าราชการผู้น้อยลูกไม่มีโอกาสเป็นเจ้าเมืองหรืออธิบดี ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นความคิดที่เหลวไหลและไร้เหตุผล แต่ที่พ่อพูดอย่างนั้น อาจจะเป็นเพราะต้องการจะหว่านล้อมให้ข้าพเจ้าทํางานแทนที่จะเรียนต่อมากกว่า เพราะเหตุประการเดียวคือพ่อไม่มีเงินจะส่งเสีย

บังเอิญปีนั้นทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬา ฯ ยังปิดอยู่ เนื่องจากสงครามยังไม่ยุติ ข้าพเจ้าก็เลิกล้มความคิดที่จะเรียนต่อชั่วคราว

พ่อพาข้าพเจ้าไปฝากนายอําเภอเข้าเป็นเสมียน นายอําเภออายุประมาณ ๔๕ ปี เป็นเพื่อนพ่อเห็นกินเหล้าด้วยกันกับพ่อบ่อย ๆ ใจดี พอพ่อพาไปฝากก็รับไว้

“อายุเท่าไรแล้วไอ้หนู” นายอําเภอถามข้าพเจ้า

“๑๖ ปี ครับ”

“อายุยังน้อยยังบรรจุเป็นข้าราชการไม่ได้ ต้องอายุครบ ๑๘ ปีเสียก่อน แต่เอาเถอะพ่อเอ็งกับอาเป็นเพื่อนกันจะรับไว้เป็นเสมียนฝึกหัดกินเงินค่าคําร้องรายวันไปก่อน ๒ ปี พออายุครบแล้วค่อยสอบเข้าเป็นเสมียนสามัญ” นายอําเภอพูดเรื่อย ๆ พลางมองข้าพเจ้า

“แล้วแต่นายอําเภอจะกรุณาเถอะครับ ความจริงมันอยากจะเรียนต่อ แต่ผมมันขัดข้องเรื่องเงินเลยต้องเอามันมาฝากงานกับนายอําเภอ” พ่อข้าพเจ้าว่า

“เอาเถอะแล้วผมจะดูแลเอง” นายอําเภอพูด

“ผิดชอบชั่วดีอะไรก็สั่งสอนมันเข้าไปเถอะครับ คิดว่ามันเป็นลูกหลานของท่านก็แล้วกัน” พ่อพยายามพูดฝากฝั่งข้าพเจ้ากับนายอําเภอ

“การทํางานเป็นเสมียนรับจ้างไม่ยากอะไรเพราะไม่มีความรับผิดชอบอะไรมากนัก ส่วนใหญ่เขียนคําร้องให้แก่ประชาชนผู้มาติดต่อ อํานวยความสะดวกให้แก่เขาและเขาก็ให้ค่าตอบแทนหรือค่าเขียนคําร้อง ๒ บาท ตามระเบียบว่าด้วยค่าธรรมเนียมอําเภอ ไม่อนุญาตให้เรียกค่าเขียนคําร้องเกิน ๒ บาท แต่ไม่แน่บางทีพวกไอ้เณรของผมมันเขกเขาตั้ง ๑๐-๒๐ บาท ก็มี ร้องเรียนกันอยู่บ่อย ๆ แต่ถ้าเรuยกเขา ๒ บาท แล้วไม่มีปัญหาอะไร สําคัญอยู่ที่เราต้องมีใจเมตตากรุณากับราษฎร อย่าไปขูดรีดเขาอย่างเด็ดขาด ผมไล่ออกไป ๒-๓ คน แล้ว พวกเสมียนจ้างที่เรียกค่าคําร้องเขามาก ๆ เกินกว่าเหตุ” นายอําเภอขนาบ ข้าพเจ้าไปในตัว

“ถ้ามันทําผิดทําถูกอย่างไรก็กรุณาแนะนําตักเตือนมัน ไปเถิดนึกว่าเอาบุญ” พ่อพูดกับนายอําเภอพร้อมลากลับ

ขณะเดินกลับบ้านพ่อได้สั่งสอนข้าพเจ้าให้ประพฤติตนให้ดี ตั้งใจทํางาน พออายุครบ ๑๘ ปี หรืออีก ๒ ปีข้างหน้าเขาจะมีการสอบเสมียนสามัญที่ศาลากลางจังหวัดพ่อมีพรรคพวกอยู่ทางแผนกศึกษาธิการจังหวัดหลายคนพอจะไปฝากฝังได้ไม่ยากนักขอให้อายุครบเสียก่อนเถิด ถ้าใด้เข้าเป็นเสมียนมหาดไทยแล้ว พออายุราชการครบ ๕ ปี ก็มีสิทธิ์สอบชั้นตรีได้ ตอนนี้ถ้าแกสอบได้ก็จะได้เป็นปลัดอําเภอตรีและเป็นหนทางที่จะได้เป็นนายอําเภอต่อไป

พ่อข้าพเจ้าพูดเรื่องนี้ไปตลอดทางเพื่อให้ข้าพเจ้าลืมเรื่องการไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ แต่ข้าพเจ้าหาลืมไม่กลับครุ่นคิดไปตลอดเวลาหากเป็นไปตามแผนที่พ่อวางไว้จริงตามที่ได้คาดหมายไว้ก็ต้องใช้เวลาถึง ๗ ปี คือเป็นเสมียนจ้าง ๒ ปี พออายุครบ ๑๘ ก็สอบเข้าเป็นเสมียนมหาดไทย ๕ ปี จึงได้เป็นปลัดอําเภอชั้นตรีหมายความว่าถ้าสอบเสมียนจัตวาได้และสอบชั้นตรีได้ตามที่กะกันไว้แต่จะเอาความแน่นอนที่ไหน เพราะลูกท่านหลานเธอทางจังหวัดก็มีอยู่ไม่น้อย เราเป็นแต่ลูกครูจน ๆ คนหนึ่งจะมีหนทางเป็นไปได้อย่างไร

ข้าพเจ้าคิดๆ แล้วก็ถอนหายใจเฮือกใหญ่พ่อเหลียวมาดูคงจะสงสัยแต่ก็ไม่ได้ซักถามอะไร

คืนนั้นข้าพเจ้านอนไม่หลับคิดถึงชีวิตของตนที่เกิดมาอาภัพมีแต่ความขัดสนข้นแค้น แม้แต่จะไปเรียนต่อก็มีอุปสรรคขวากหนามเต็มไปหมด ยากที่จะบรรลุเป้าหมายตามที่ตนคิดไว้ คิด ๆ จนหลับไปเมื่อค่อนรุ่ง

ตื่นมาตอนเช้าไม่รู้สึกตื่นเต้นดีใจอย่างใดที่ได้ไปเป็นเสมียนจ้างที่อําเภอ ทั้งนี้เพราะฐานะของเสมียนจ้างนั้นในสายตาของคนทั่วไปถือว่าเป็นลูกจ้างธรรมดา ไม่ได้รับการยกย่องนับถือจากผู้ใดทั้งสิ้น แถมราษฎรที่มาติดต่อหรือข้าราชการชั้นเสมียนอําเภอเขามักจะเรียกพวกเสมียนจ้างว่า “ไอ้ลูกเหมียน” ความจริง “ลูกเหมียน” ก็คือลูกเสมียนหรือเสมียนผู้น้อยนั่นเอง แต่ชาวปักษ์ใต้เขาเรียกสั้น ๆ ว่า “ลูกเหมียน” เขาไม่นิยม “ออกเสียงสระอะ” เช่นมะขามเขาก็เรียกส้มขาม มะม่วงเขาก็เรียกส้มม่วง ปากพนังเขาก็เรียกว่าปากนัง เป็นต้น
ปีนั้นธรรมศาสตร์ ไม่เปิดรับเตรียมปริญญาเพราะสงครามยังไม่ยุติทําให้ความกระวนกระวายของข้าพเจ้าที่อยากจะเรียนต่อหมดไปโดยปริยาย เพราะเมื่อธรรมศาสตร์ จุฬาฯ ไม่เปิดรับแล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปเรียนต่อที่ไหน เพราะสมัยนั้นมหาวิทยาลัยที่ดัง ๆ มีอยู่ ๒ แห่งเท่านั้น มหาวิทยาลัยรามคําแหงก็ยังไม่เปิด

ปัญญา ฤกษ์อุไร - ชีวิตเมื่อปลายสงครามมหาเอเชียบูรพา

หนังสือต่วย'ตูน เดือนมกราคม ๒๕๒๓ ปีที่ ๙ เล่มที่ ๕

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest
LinkedIn

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Photobook

Highlight

Back Issues

On Key

Related Posts

หมาเจ้าเมือง

หมาเจ้าเมือง ร.ต.พิมล สุวรรณสุภา อันว่าบุญวาสนาของสัตว์โลก ทั้งผองจะเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงนั้น ย่อมเป็นไปตามกฎแห่งกรรมของตนเองทั้งสิ้น ก่อกรรมใดที่ไม่ถูก กาลเทศะ, โลภโมโทสัน หรือเหิมเกริมจนลืมตนก็จะเป็นเหตุปัจจัยฉุดรั้งให้ต่ำลง แทนที่จะช่วยดึงให้สูงขึ้น สัจธรรมข้อนี้ผมได้มาจากชีวิตของ

รบกับเจ็ก

รบกับเจ็ก ประสงค์ บานชื่น ทางสื่อมวลชน เช่นวิทยุ โทรทัศน์ (เอ๊ย, ยังไม่มี) และหนังสือพิมพ์ ว่า “เชื่อผู้นําชาติพ้นภัย” “มาลานําไทยสู่มหาอํานาจ”

มวยแขก

ชุดแขกอมยิ้ม มวยแขก ชัยชนะ โพธิวาระ คุยกับแขกไม่ว่าเรื่องใดก็ตามอาบังแกต้องมีเรื่องมาเกทับคู่สนทนาอยู่เสมอ เช่นคุยถึงเรื่องรถแขกเขาต้องบอกว่ารถที่ผลิตในอินเดียแข็งแกร่งที่สุด รูปร่างที่สวยงาม แถมชื่อยังไพเราะซะด้วยคือยี่ห่อแอมบาสดอร์ ยิ่งมอเตอร์ไซค์ยิ่งชื่อเพราะใหญ่คือยี่ห้อ YEZDEE ถ้าคุยถึงเรื่องพระเจ้าบังแกก็จะคุยจนน้ําลายฟูมปากอีกนะแหละว่าอินเดียเป็นดินแดนของพระเจ้าและมีพระเจ้าอยู่ที่นี่มากที่สุด เรียกว่าคุยเรื่องไหนมาแขกเป็นคุยทับไปได้อย่างสบาย

“โอฬาร” – หนังสือหัวเตียง

หนังสือหัวเตียง “โอฬาร” เมื่อเดือนก่อนมีนักเขียนชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งแวะมาหาผมที่สํานักงาน “สตูดิโอ เท็น” ถนนอรรถการประสิทธิ์ ตอนนั้นสิบโมงเช้าแล้ว ผมกําลังนั่งดูเพื่อนฝูงเขาตัดต่อภาพยนตร์สารคดีท่องเที่ยว ชุด “ชีพจรลงเท้า” อยู่ นักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้นั้นยังหนุ่มอยู่

ตะเกียงเจ้าพายุดวงนั้น – ปัญญา ฤกษ์อุไร

ปัญญา ฤกษ์อุไร ชุดทางไปสู่จวน ตะเกียงเจ้าพายุดวงนั้น ปัญญา ฤกษ์อุไร หลังจากที่ปลัดเชิดและข้าพเจ้า กับนายพันเสมียนมหาดไทย ออกไปทําตั๋วรูปพรรณควาย ที่ตําบลตาพระยา ในคราวนั้นแล้วก็เว้นระยะไปประมาณ ๒-๓

ชีวิตเสมียนจ้าง-บัญชีผี

ชุดทางไปสู่จวน ชีวิตเสมียนจ้าง-บัญชีผี ปัญญา ฤกษ์อุไร วันนั้นเป็นวันจันทร์ตอนต้น ๆ เดือน ข้าพเจ้าไปอําเภอแต่เช้า เพราะเป็นวันที่นายอําเภอให้ข้าพเจ้าไปเริ่มทํางานเป็นเสมียนจ้างได้ เมื่อข้าพเจ้าไปถึงอําเภอนั้นเป็น เวลาแปดโมงเศษ ๆ