
คนเจริญลง?
ประเทือง ใบมาก
อันความเจริญมันต้องสูงขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าลดลงก็ต้องว่าความเสื่อม คําว่าเจริญลงไม่มีหรอก แต่พูดให้แปลกหูเสียงั้นแหละ เพื่อเรียกร้องความสนใจไงล่ะ เมื่อเกิดความสนใจหรือสดุดใจ ความสงสัยย่อมตามมาว่า เอ มันยังไงนะไอ้เรื่องเจริญลงนะ? ไหนๆ ลองแข็งใจอ่านหน่อยซิ
เห็นไหม ตกหลุมพรางแล้ว พออ่านจบอาจมีคําว่า “ถุย” หรือ “ทุด” แถมท้ายก็ได้ เช่น “ถุย นึกว่าจะพิสดารแค่ไหน ที่แท้ไม่เป็นสัปรดสุวานงับ”
คราวต่อไปพอเห็นเรื่องที่ผมเขียนก็อดสงสัยอีกไม่ได้ เอ ลองอ่านของมันอีกเรื่องเถอะน่ะ
นี่แหละทําให้หนังสือขายได้เรื่อยๆ ทางสํานักพิมพ์ก็หลงผิดว่า เออ คนติดเรื่องของหมอนี่แฮะ ก็เลยเพิ่มค่าเรื่องให้อีก เฮอะ หลงกลเข้าเต็มเปา
คนที่ความเจริญลดลง หรือเสื่อมลงที่ว่ามิใช่บุคคลระดับชาติ เป็นต้นว่านายกรัฐมนตรีที่โดนปฏิรูปปฏิวัติ หรืออาจารย์โรงเรียนเตรียมอะไรแห่งหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าทําข้อสอบรั่วจนต้องสอบกันใหม่ หรือ ฯลฯ อะไรนั่นก็หาไม่ แกเป็นชาวนาในชนบททุรกันดารแห่งหนึ่งเท่านั้นเอง
ลุงอ่วม คือนามกรของแก
↓ ⑥
ลุงอ่วมได้เมียเมื่ออายุสี่สิบกว่า เหตุเพราะบวชนานถึงยี่สิบพรรษา จนดํารงตําแหน่งสมภารรองของวัดแห่งนั้น ถ้าไม่ด่วนสึกเสียก่อนมีหวังได้เป็นสมภารแน่ เพราะหลังจากสึกได้สองสามเดือนหลวงตาเจ้าอาวาสก็มรณภาพ
เล่นเอาทิดอ่วมเสียดายตําแหน่งสมภารวัดอยู่ไม่วาย
ทิดอ่วมต้องสึกเพราะสีกาเป็นต้นเหตุ สีกาคนนั้นคือเมียที่อยู่กินด้วยกันจนแก่เฒ่านี่เอง
ตอนลุงอ่วมยังอยู่ในสมณเพศก็ได้อาศัยจังหวะนังหวนหม้ายลูก (สาว) สามเป็นสปอนเซอร์ส่งเสียอาหารการกินคือสํารับกับข้าวทั้งมื้อเช้าและกลางวัน
ถ้าพระฉันสามเวลาคงมีมื้อเย็นแถมให้อีก
ในที่สุดหลวงพี่อ่วมเห็นคุณงามความดีของหม้ายหวน เลยสละผ้าเหลืองออกมาครองเรือนสนองคุณจนทุกวันนี้
ทิดอ่วมคงเป็นหมัน ก็ไม่มีลูกเต้าด้วยกันเลยนี่ จะว่าคุมกําเนิดก็ไม่ใช่ เพราะตอนนั้นคุณมีชัยยังไม่ปฏิสนธิ การวางแผนครอบครัวไม่มีใครรู้จัก ไม่มีใครคิด ทิดอ่วมกับหม้ายหวนอยู่กินด้วยกันจนลูกสาวทั้งสามมีครอบครัวแยกเรือนไปหมด เหลือเพียงสองตายาย อ้อ ควายอีกสี่ ไอ้ทุย ไอ้โทน อีแหวด ลูกแหง่อีกตัว เป็นเครื่องมือทํามาหา
↓ ⑤

เขาว่าสมภารเจ้าวัดนี้ลงได้สึกออกมาแล้ว ถ้าดีก็ดีไปเชียว ไม่งั้นก็ขี้เหล้าเมายาไปเลย ลุงอ่วมก็เหมือนกัน กลายเป็นนักดื่มตัวฉกาจ ตั้งวงก๊งแทบทุกเย็น แต่ป้าหวนไม่เคยปริปาก เพราะลุงอ่วมเมาไม่เสียงาน ตอนเย็นให้เมาแสนเมา พอรุ่งเช้าไล่ควายปร๋อออกจากคอกไปเลี้ยงกลางทุ่งได้ทุกครั้ง ไม่มีขาดตกบกพร่อง ฤดูทํานาก็แบกคันไถจูงควายลงท้องนาแต่เช้าตรู่ ใครจะไปว่าแกได้
วันหนึ่งขณะเลี้ยงควาย ทิดโหน่งคนชอบพอกันแต่อยู่ต่างอําเภอขี่ม้าผ่านมาก็หยุดสนทนาพาที่ตามประสานาน ๆ ได้เจอ
คุยไปคุยมาแต่สายตาลุงอ่วมชําเลืองไปที่มาสีนิลไม่หยุดหย่อน ขนดําเป็นมันขลับ ร่างกํายําพ่วงพี ท่าที่เหยาะย่างช่างสง่าเหลือหลาย ลุงอ่วมอดใจไม่ไหวเลยออกปากขอลองขี่
ลุงอ่วมโดดขึ้นหลังไอ้นิลห้อตะบึงไปหลายเส้นแล้ววกกลับ ดึงเชือกรั้งบังเหียนให้หน้าง้ำ อันเป็นทาทบังคับม้าให้วิ่งซอยเท้าถี่ยิบไม่โกยสี่เท้าเหมือนตอนแรก ท่านี้เขาเรียก “วิ่งเรียบ”
ไอ้นิลวิ่งเรียบจริงๆ คนนั่งบนหลังแทบไม่รู้สึกกระเทือนก้น นิ่มเหมือนนั่งรถเก๋งสมัยนี้
ข่าวว่าป้าหวนบ่นลุงอ่วมเหมือนหมีกินผึ้ง จะไม่บ่นยังไง ดันเอาไอ้ทุยพ่อฝูงแลกกับม้าเข้าให้ ทิดโหน่งขี่ไอ้ทุยกลับบ้าน ลุงอ่วมก็ขี่ไอ้นิลไล่ฝูงควายกลับคอก
“แล้วแกจะเอาอะไรไถนาฮึตาอ่วม ? ป้าหวนพูดแค้นๆ “มีอย่างที่ไหนเอาควายแลกม้า ราคามากกว่ากันเกือบครึ่ง”
“เฮ่ย เหลือไอ้โทนอีกทั้งตัว เวลาคราดก็เอาอีแหวดเทียมคู่กันเข้า ลูกมันหย่านม ตั้งนานแล้ว” ลุงอ่วมแก้ตัว
“เอาม้ามาเลี้ยงลำบากชิมหา-” ป้าหวนด่าเปรยๆ “ต้องทําโรงยกพื้นมุงหลังคากันฝนให้มัน แถมยุงชุมก็ต้องสุมไฟให้ควันไล่ยุง โอ้ย สารพัดจะยุ่ง”
“เฮ่ย แกไม่ต้อง ข้าทําของข้าเอง” ลุงอ่วมตัดบท เล่นเอาป้าหวนหมดปัญญาจะต่อกรด้วย
↓ ④

ล่วงไปเดือนกว่าๆ ลุงอ่วมขี่ม้าหายไปค่อนวัน ขากลับเดิน ไม่รู้เอาม้าไปไว้ที่ไหน แถมไม่เดินตัวเปล่า แบกไถมาด้วย ไถสําหรับไถนาน่ะ แต่ไถเล่มนี้ผิดแผกกว่าไถทั่วๆ ไป
ผิดยังไง ? อ๋อ มันมีเอกลักษณ์พิเศษหลายอย่าง หางไถโค้งเกือบครึ่งวงกลม
ปลายงอนช้อยออกด้านหลังตรงข้าม ตอนปลายสุดแทนที่จะเรียวกลม กลับแบนเท่าฝ่ามือ แกะสลักลวดลายเป็นรูปหางหงส์ ที่ยอดมีภู่ด้ายหลากสีห้อยย้อยงามตา ประดับกระจกสีแพรวพราวไปทั้งแผ่นราวกับหางหงส์ตามศาลาวัดหรือพระอุโบสถก็ไม่ปาน ที่คันชัก (ส่วนที่เทียมควายให้ลากคันไถ) ลงอักขระเลขยันต์ของอาจารย์มีชื่ออีกด้วย
คันไถทําด้วยไม้ประดู่แก่ต้นอายุเฉียดศตวรรษที่ได้มาจากดงลึกของอําเภอบ้านไร่จังหวัดอุทัยธานี เลยห้วยขาแข็งไปอีก เขตติดต่อกาญจนบุรีนั่นเทียว ขัดทาน้ำมันเป็นเงาวับ
ลุงอ่วมแบกไถขึ้นบ้านอย่างระมัดระวัง กลัวจะเกี่ยวโน่นโดนนี่ เดี๋ยวเนื้อไม้จะถลอกเสียโฉม เอาตั้งพิงฝาไว้ในที่สดุดตา ผูกมัดยึดตรึงกันล้มอย่างดี
พอรู้ถึงที่มาของคันไถทําเอาป้าหวนแทบเป็นลม
ลุงอ่วมเอาม้าแลกไถเสียแล้ว แถมไม่เอาไปไถนาอีกด้วย ขืนทํายังงั้นบรรลัยหมด เอาไว้ประดับโชว์ให้เป็นศรีสง่าแก่บ้าน
“ตาอ่วม” ป้าหวนแผดเสียง “แกนี่บ้า”
“เฮ่ย มันไม่ใช่ไถธรรมดานาแม่มึง เจ้าของเค้ามีโชคอยู่เรื่อย เดือนที่แล้วก็รวยไปตั้งหลายตําลึง เกือบชั่งแนะ”
“โชคบ้า” ป้าหวนตวาดแว้ด “แกลองซี แม่ไม่แพ่นกบาลก็ลองดู”
“เปล่า ๆ” ลุงอ่วมโบกไม้โบกมือ “ข้ายกตัวอย่างให้ฟัง”
“ไม่ต้องยกต้องแย็ก ไอ้…” ป้าหวนด่าจนน้ําหมากเล็ด
ลุงอ่วมเดินยิ้มเข้าไปในห้อง เอาธูปออกมาจุดปักไว้ที่หางไถ พนมมือทําปากขมุบขมิบสักครู่ก็เสร็จพิธี
“เออ ไหว้เข้าไปเถอะไม้ไร่ พระสงฆ์องค์เจ้าไม่ต้องนับถือกันละ มั้ยไม่เอากระดูกพ่อมึงมาแขวนไว้ด้วยเล้า” ป้าหวนตะโกน
“เบาๆ น่า” ลุงอ่วมหน้ายุ่ง “เอ็ดไปได้ อายเค้า”
“กูไม่อาย ไอ้คนจังไร มีอย่างที่ไหนควายทั้งตัวเหลือ แค่ไถเล่มเดียว ไอ้คนเจริญลง….”
ลุงอ่วมลงจากบ้านไปแล้ว
↓ ③
ไม่ถึงสองเดือน บ้านลุงอ่วมมีโอกาสต้อนรับลุงกั่นเพื่อนเกลอต่างถิ่น ป้าหวนเข้าครัวทํากับแกล้มเลี้ยงแขกกุลีกุจอ เล่นเอาสองเฒ่าก๊งกันเพลิน
ลุงกั่นแต่งตัวทันสมัยในยุคนั้น นุ่งโสร่งหยักรั้งเผยให้เห็นกางเกงในติดลูกไม้ขลิบริมที่ปลายขา สวมเสื้อกุยเฮงผ้าป่านขาวตราค้างคาวโปร่งบางจนมองเห็นพระเครื่องพวงเบ้อเริ่มที่ทรวงอก
แต่สิ่งที่สดุดตาลุงอ่วมคือมีดที่ขัดหลังลุงกั่น จนอดใจไม่ไหวต้องขอดู
ฝักมีดทําด้วยไม้ชิงชันสีดําสลับขาวเป็นเงางาม ปลอกรัดทําด้วยเงินบริสุทธิ์
สลักลวดลายอย่างปราณีต ช่องสําหรับสอดปลายมีดหุ้มเงินสลักลวดลายอีกเช่นกัน ตัวมีดโค้งงอนพองาม จารึกอักขระขอมทั้งสองแถบตามแนวสันมีด ตรงโคนต่อกับด้ามสลักเป็นรูปเทพพนม เนื้อเหล็กขาวเป็นเงาวับสะท้อนแสงแดดจนตาพร่า
ด้ามมีดทําด้วยเขาควายเผือกหุ้มปลอกเงินสลักลายกนก ตอนเข้าด้ามมีดลุงกั่นอ้างว่าผ่านการปลุกเศกจากอาจารย์มีชื่อมาแล้ว โดยฝังของอาถรรพณ์ไว้ในด้าม คือขี้ผึ้งปิดปากผีกระดูกผีตายโหง ปอยผมผีตายทั้งกลม ฯลฯ อะไรอีกหลายอย่างจําไม่ได้ ถึงวันเสาร์ห้าคราใดถ้าเอาไปเข้าพิธีปลุกเศกจะสําแดงเดชหล่นจากโต๊ะบูชาได้เอง ฯลฯ
ใครที่ว่าหนังเหนียว เจอมีดเล่มนี้หน่อยเถอะน่า ไม่เหวอะหวะก็ลองดู ผีป่าผีโป่งไม่กล้ามากล้ํากราย ฯลฯ โฮ้ย ลุงกั่นสาธยายให้ฟังจนจําไม่หวาดไหว
ลงกั่นอําลาเพื่อนเกลอเมื่อใกล้เย็น โดยมีไถหางหงส์ติดบ่าไปด้วย ส่วนมีดสารพัดอาคมเล่มนั้นขึ้นไปสถิตย์อยู่บนหิ้งบูชาของลุงอ่วม
ใช่ ไถแลกมีด
ถ้าคิดเป็นสูตรตั้งแต่ต้นตามหลักคณิตศาสตร์ก็ได้ดังนี้
ควายหนึ่งตัว = มีดหนึ่งเล่ม
นับแต่นั้นเห็นลุงอ่วมคราใดต้องมีมีดหมอขัดหลังทุกทีไป แม้แต่ไปในป่าหลังบ้านก็พกมีด
↓ ②

คราวนี้นานหน่อย เกือบสามเดือน ลุงอ่วมไปเที่ยวต่างถิ่นเช่นเคย
ขากลับอุ้มไก่อูตัวเบ้อเริ่มมาด้วย ถ้าคิดเป็นน้ําหนักสมัยนี้คงกว่าสามกิโล
ลายดําสลับขาวราวกับนกกระทา หงอนแดงแจ๊ดบ่งถึงความสมบูรณ์เลือดฝาดเจริญ จงอยปากแข้งขาเหลืองจ๋อยราวกับทาขมิ้น เล็บสีเหมือนงาช้าง
หางกะลวยโค้งห้อยย้อยเกือบจรดดิน ขนหางสีเขียวราวกับปีกแมลงทับตัดกับลายขาวดําตามลําตัว ทําเอาป้าแหวนอดลูบคลําไม่ได้
“สวยจัง” ป้าแหวนชม “เอามาจากไหนล่ะ ?”
“ไก่ไอ้แหยง โน่น บ้านลับโลก” ลุงกั่นตอบอย่างภาคภูมิ
“เลี้ยงให้ดีนะแก” ป้าหวนกําชับ “ถ้าเป็นไรไปเสียดายแย่ ไก่อย่างนี้หายาก”
“ต้องขังเล้าซักสามวันถึงค่อยปล่อย” ลุงอ่วมว่า
“อ๊ะ ไม่ได้ ๆ” ป้าหวนค้าน ต้องเจ็ดวัน ไม่งั้นเดียวตื่นที่อยู่จะเตลิดเปิดเปิงกันใหญ่ อ้าว เอ๊ะ ?”
ป้าหวนมองหน้าลุงอ่วมเขม็ง “แล้วมีดแก ?”
“ก็-ก็ ไก่นี่….” ลุงอ่วมพูดตะกุกตะกัก
“ไอ้อ่วม” ป้าหวนลุกขึ้นเต้นเร่าๆ “มึงนะมึง เอาอีกแล้วไอ้ตัวดี โธ่ ๆ ควายทั้งตัวเหลือแค่ไก่ตัวเดียว โอ๊ยเป็นลม”
ลุงอ่วมลงบันไดตามเคย
ขังไก่ครบเจ็ดวันก็ปล่อยออกจากเล้า ปรากฏว่าไอ้อูตัวโปรดไม่ชอบหากินตามพื้นดิน ขึ้นบ้านเก่งเป็นบ้า หม้อข้าวหม้อแกงต้องปิดให้แน่น กับข้าวกับปลาโดนคุ้ยโดนเขี่ยจิกกินสารพัด เหตุเพราะเจ้าของเดิมอยู่กระท่อมพื้นสูงแค่เข่าไก่จึงเข้าครัวจนเคย ทําเอาป้าหวนคว้าเสือในครัวเงื้อแล้วเงื้ออีกจนนับครั้งไม่ถ้วน
เย็นวันนั้นลุงอ่วมกลับจากธุระตั้งใจจะก๊งให้หายเพลียสักหนอย เหล้ายังเหลือเกือบครึ่งขวดตั้งไว้ข้างหม้อข้าว ป้าหวนจูงควายไปกินน้ําที่บ่อนอกรั้วบ้าน
พอลุงอ่วมโผล่ขึ้นบ้านก็เห็นไอ้อูตัวโปรดกําลังคุ้ยเขี่ยอยู่ในครัวเป็นพัลวัน ขวดเหล้ากลิ้งไปทาง จุกหลุดไปอีกทาง แล้วในขวดจะมีอะไรเหลือ
อารามโมโหจนลืมตัว คว้ามีดจากข้างฝาขว้างผลุงสุดแรง โดนคอไอ้อูพอดี ล้มลงดิ้นพราด ขาดใจต่อหน้าต่อตา
↓ ①
เย็นนั้นลุงร่วมกับทิดเป้งทิดฉ่อยลูกน้องคนสนิทข้างบ้านตั้งวงก๊งแกล้มไอ้อูกันเต็มที่ ปล่อยให้ป้าหวนร้องไห้ฮือๆ ที่ร้านใต้ต้นมะขามอยู่คนเดียว
ใครจะไม่เสียใจ ควายตัวเท่าไหน ๆ เหลือแค่ไก่ตัวนิด แถมกลายเป็นกับแกล้มเหล้าลงท้องคน แม้แต่กระดูกก็ไม่เหลือเข้าท้องหมาหมด
ดื่มกินกันได้ที่ทิดเป้งก็นึกขํา เลยหัวเราะขึ้นมาเฉย ๆ
“ขําอะไรวะทิดเป้ง ?” ลุงอ่วมถาม “แกงไก่ไม่ได้ใส่กัญชาซักหน่อย เลือกหัวร่อคนเดียว”
“ขําลุง” ทิดเป้งหัวเราะอีก “เขาขํากันทั้งบาง
“ขําเรื่องไร ?” ลุงอ่วมย้อนถาม
“ก็เรื่องควาย” ทิดเป้งยกถ้วยชาขึ้นดวด “ควายกลายเป็นม้า ม้ากลายเป็นไถ ฮ่า-ฮ่า เอิ๊ก”
“ไถกลายเป็นมีด มีดกลายเป็นไก่ ค่าของควายเท่ากับไก่ตัวเดียว ฮิ ๆ” ทิดฉ่อยเอาบ้าง “ผลสุดท้ายไม่มีอะไรเหลือ กลายเป็นขี้ไปโม้ด”
“พวกมึงมันโง่” ลุงอ่วมพูดขรึมๆ
“โง่ยังไง ? ทิดเป้งเถียง “ข้าไม่เคยเสียควายเหมือนลุง”
ลุงอ่วมยักคิ้วแผล็บ “เออ นั่นแหละโง่ รู้ไม่ทันกู”
“เฮอะ ยังอวดดี” ทิดเป้งยุ่ว “เอ้า ว่ามาซิ รู้ไม่ทันยังไง ?”
“บอกก็ได้ แต่ อ้อ…..” ลุงอ่วมเหลียวซ้ายและขวา “ยายหวนอยู่ไหนหว่า….”
“โน่น” ทิดฉ่อยชี้ไปหลังบ้าน “นั่งร้องไห้ที่แคร่”
“เออ ดี ๆ” ลุงอ่วมพูดยิ้ม ๆ แต่มึงต้องสาบานกันก่อนนะว่าจะไม่แพร่งพรายเรื่องนี้เป็นอันขาด”
ทิดเป้งพยักหน้า “ให้ข้าตายโหง เอ้า”
“ข้าก็เหมือนกัน” ทิดฉ่อยว่า “ถ้าปากโป้งขอให้กินขนมจีนจนพุงแตกตายเหมือนชูชก-อุ๊บ” พูดจบก็หลบวูบเพราะลุงอ่วมยกอวัยวะเบื้องต่ําดีดเอา
“กูยักยอกเมียว่ะ มึงคิดซิ ที่นาสามสิบกว่าไร่ในโฉนดมีแต่ชื่อมันกับลูกสาว กูขอเอาชื่อลงด้วยก็ไม่ยอม” ลุงอ่วมสาธยาย
“อ้าว ก็สมบัติดั้งเดิมก๊ะผัวเก่าเค้านี่” ทิดเป้งค้าน “ลุงมาอยู่ที่หลัง…..”
“เออๆ ไม่ต้องขัดคอ” ลุงอ่วมโบกมือ “มึงฟังดีกว่า”
“ทุกวันนี้กูไม่มีสมบัติพัสถานอะไรซักชิ้น มีแต่ตัวบ้านช่องห้องหอก็ของเมีย
ถ้าเมียตายอีพวกลูก ๆ มันต้องขายเอาเงินแบ่งกันแน่ ๆ แล้วกูจะซุกหัวนอนที่ไหน ?” พูดพลางตักแกงไก่เข้าปากเคี้ยวหยับๆ “จึงต้องหาสมบัติไว้บ้าง เห็นอยู่ควายนี่แหละ”
“ควายก็ของเมีย” ทิดฉ่อยสอด
“เออ ใช่” ลุงอ่วมพยักหน้า “กูจึงต้องทําเป็นขั้นตอน ลดค่าควายลงทีละน้อย ๆ ไม่ให้สงสัยไงล่ะ กูก๊อลดจากควายลงเป็นม้า”
“ลดจากม้าเป็นไถ จนถึงมีดถึงไก่แล้วไม่เหลือเลย” ทิดเป้งขัดคออีก
“ฮื้อ ไอ้มึงละรู้ก่อนเกิด” ลุงอ่วมขมวดคิ้ว “บอกว่าฟังดีกว่า กูไม่ได้แลกกับม้าโว้ย กูยืมม้าไอ้โหน่งชั่วคราว อย่า อย่าเพิ่งขัด” ลุงอ่วมยกมือห้ามเมื่อเห็นทิดเป้งอ้าปากจะพูด “ไถ มีด ไก่ กูยืมทั้งนั้น”
“พอยืมไถไอ้คุ่ย กูกอเอาม้าไปคืนไอ้โหน่ง”
“แล้วยืมมืดไอ้กั่น เอาไถคืนได้คุ่ยไป”
“ทีนี้ยืมไก่ไอ้แหยง เอามีดคืนไอ้กั่น”
“แต่ไก่ไอ้แหยงนี่กูหมดปัญญา ไม่รู้จะเอาที่ไหนไปใช้มัน หายากซะด้วยไก่สวย ๆ อย่างนี้” ลุงอ่วมชักเป็นทุกข์
“งั้นแกก๊อยักควายไปขาย ?” ทิดเป้งถามอ่อยๆ
“ยัง กูฝากไอ้โหน่งไว้ให้เขาเช่า เก็บค่าเช่ากินซักสองสามปีแล้วค่อยขาย ใคร ๆ ก็นึกว่ากูแลกของลดค่าลงทุกทีๆ เหมือนอย่างมึงเข้าใจโง่ๆ นั่นแหละ ฮ่า ฮ่า…..”
⓪
คนเจริญลง? - ประเทือง ใบมาก
หนังสือต่วย'ตูน เดือนเมษายน ๒๕๒๕ ปีที่ ๑๑ เล่มที่ ๘
