“โอฬาร” – หนังสือหัวเตียง

หนังสือหัวเตียง

“โอฬาร”

เมื่อเดือนก่อนมีนักเขียนชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งแวะมาหาผมที่สํานักงาน “สตูดิโอ เท็น” ถนนอรรถการประสิทธิ์ ตอนนั้นสิบโมงเช้าแล้ว ผมกําลังนั่งดูเพื่อนฝูงเขาตัดต่อภาพยนตร์สารคดีท่องเที่ยว ชุด “ชีพจรลงเท้า” อยู่

นักเขียนชาวฝรั่งเศสผู้นั้นยังหนุ่มอยู่ หน้าตาหล่อเหลาเล่นหนังได้สบาย พอเขายื่นนามบัตรให้ผมก็นึกออกว่าเป็นใคร เพราะหลานผมซึ่งกําลังเรียนอยู่ที่ปารีสได้มีจดหมายฝากฝังมาก่อนแล้วว่าถ้าเจ้าหนุ่มคนนี้โต๋เต๋มาถึงบางกอกละก็ ขอให้ผมช่วยรับรองหน่อยเพราะเขามีบุญคุณเคยช่วยเหลืออุปการะหลานผมมากในปารีส

นักเขียนฝรั่งเศสคนนี้กําลังเขียนประวัติ ชาลส์ เดอโกลล์ ผู้นําคนสําคัญของฝรั่งเศส วิธีเขียนหนังสือของฝรั่งนั้นเขาใช้เวลาค้นคว้ามาก อ่านหนังสือกันเป็นตั้ง ๆ เท่านั้นยังไม่พอ ต้องออกเที่ยวสัมภาษณ์ใครต่อใครให้ยุ่งไปหมด แล้วเอาเรื่องราวทั้งหมดมาปะติดปะต่อกันเข้า ภายหลังจากที่ได้สอบถามแล้วว่า เรื่องเล่าเหล่านั้นเชื่อถือได้

เขาบอกว่า จากการสัมภาษณ์คนสนิทของนายพลเดอโกลล์เขาได้ทราบว่า เมืองไทยมีพระดีอยู่องค์หนึ่ง และตอนที่เดอโกลล์ถูกยิงด้วยปืนกล กระสุนปืนกลถูกรถพรุนไปทั้งคัน แต่เดอโกลล์ก็รอดตายมาได้อย่างมหัศจรรย์ “ภริยาของเดอโกลล์เชื่อว่า เดอโกลล์รอดตายครั้งนั้นเพราะพระผู้มีอภินิหารยิ่งใหญ่ในเมืองไทยได้เสด็จไปช่วยชีวิตไว้” เขาบอก

นักเขียนฝรั่งเศสอนนี้เขาเล่าต่อไปว่า เขาเองไม่เชื่อในเรื่องอภินิหารและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็มีใจกว้างยินดีที่จะรับฟัง เขาจึงได้ไปที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในปารีส สอบถามคนไทยที่นั่นว่าเคยได้ยินเรื่องพระไทยสําแดงอิทธิฤทธิ์ไปช่วยชีวิตประธานาธิบดีเดอโกลล์หรือเปล่า

ไปถามทีแรกไม่มีใครรู้เรื่อง

เขาจึงไปอีกหนหนึ่ง คราวนี้พบผู้หญิงไทย

เธอคงจะเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงบอกกับเขาว่า “พระที่มีอภินิหารองค์นี้ชื่อหลวงพ่อเทิด อยู่ทางส่วนใต้ของประเทศไทย”

นี่เป็นคําเล่าของนักเขียนฝรั่งเศส

ผมฟังแล้วก็รู้ทันทีว่า เขาจําชื่อผิด ที่ถูกควรจะเป็นหลวงพ่อทวด วัดช้างไห้ ปัตตานี ผมเป็นลูกปักษ์ใต้ผมทราบดี

นักเขียนคนนี้อุตส่าห์บินมาเมืองไทย ก็เพื่อจะถ่ายภาพหลวงพ่อทวด เอาไปลงประกอบในหนังสือประวัติเดอโกลล์ที่เขาเขียนจวนจะเสร็จแล้ว

ผมบอกว่าหลวงพ่อทวดท่านมรณภาพไปนานแล้ว เวลานี้มีแต่พระเครื่อง ถ้าจะถ่ายรูปก็ต้องถ่ายพระเครื่อง ซึ่งคนไทยนับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาก เคยช่วยชีวิตคนมามากแล้ว แต่บอกตรง ๆ ผมก็สงสัยเหมือนกันว่าหลวงพ่อทวดรู้จักนายพลเดอโกลล์ได้อย่างไร

คุยกันอยู่อีกครู่ใหญ่ ๆ หมดน้ําชาไปกาหนึ่ง นักเขียนฝรั่งเศสบอกว่าไหน ๆ ก็มาแล้ว จะขอเดินทางไปปัตตานี ไปถ่ายภาพวัดช้างไห้ และจะสัมภาษณ์พระในวัดหรือชาวบ้านบางคนด้วย

“มันเป็นเรื่องน่าสนใจ” เขาว่า “คนฝรั่งเศสเองที่เชื่อในเรื่องของอภินิหารและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่เป็นจํานวนไม่น้อย”

ก็เลยผมต้องพาเขาไปปัตตานี

ไปเจอะเอาเพื่อนจุฬาฯ รุ่นก่อนผมปีหนึ่ง เขาเคารพนับถือสมเด็จหลวงพ่อทวดมาก เขาจึงให้หนังสือเล่มเล็ก ๆ ผมมาเล่มหนึ่งชื่อ “อภินิหารสมเด็จหลวงพ่อทวด

ผมจึงได้แปลพอเป็นเลาๆ ให้นักเขียนฝรั่งเศสฟังว่า ในราว พ.ศ. ๒๕๐๔ หรือ ๒๕๐๕ นี่แหละ ได้มีการปลุกเศกสมเด็จหลวงพ่อทวดฯ

ทางวัดได้ส่งพระเครื่องจํานวนหนึ่ง มาให้จอมพลสฤษฎ์ ธนะรัชต์ เพื่อแจกจ่ายให้แก่นายทหารใกล้ชิดบางคน ในจํานวนนายทหารไม่กี่คนที่ได้รับแจกพระเครื่องสมเด็จหลวงพ่อทวดฯ นี้ มีพลโทอํานวย ชัยโรจน์ ทูตทหารบกประจําฝรั่งเศสรวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง

พลโทอํานวย ชัยโรจน์ได้รับแจกไปสององค์ ก็เลยได้นําติดตัวไปฝรั่งเศสด้วย

ระหว่างอยู่ที่ปารีส ทูตทหารบกประจําฝรั่งเศสผู้นี้ได้เข้าพบ ประธานาธิบดีเดอโกลล์ และเนื่องจากมีความนิยมในตัวของเดอโกลล์อยู่แล้ว จึงได้มอบพระเครื่องสมเด็จหลวงพ่อทวดฯ ให้แก่ประธานาธิบดีฝรั่งเศสไปองค์หนึ่ง พร้อมกับอธิบายให้เดอโกลล์ฟังถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อทวดว่า ถ้าอาราธนานึกถึงด้วยความเคารพละก็ อาจสามารถเสด็จไปช่วยได้เวลามีภัยมาถึงตัว ถึงอยู่ฝรั่งเศสก็เสด็จไปถึงได้ เพราะในโลกแห่งความศักดิ์สิทธิ์นั้น ลัดนิ้วมือเดียวกะพริบตาเดียวก็ไปถึงฝรั่งเศสแล้ว

เมื่อได้พระสมเด็จหลวงพ่อทวดฯ ไปแล้ว ประธานาธิบดีเดอโกลล์ก็พกติดตัวไปด้วยทุกหนทุกแห่ง

ผมปะติดปะต่อเรื่องเอาเองได้ความว่า ต่อจากนั้นไม่กี่เดือนก็เกิดเหตุการณ์ระทึกใจ กล่าวคือ เดอโกลล์ผู้เข้มแข็งได้ถูกพวกใต้ดินคณะหนึ่งระดมยิงด้วยปืนกลในระหว่างที่อยู่ในรถยนต์กับภริยาในกรุงปารีส เป็นที่น่าหวาดเสียวอย่างยิ่งกระสุนปืนกลถูกรถพรุนไปทั้งคัน การยิงก็อยู่ในระยะกระชั้นชิดมาก แต่ประธานาธิบดีฝรั่งเศสก็รอดชีวิตมาได้อย่างปาฏิหาริย์

เดอโกลล์เงียบ… ไม่ได้วิจารณ์

แต่ภริยาของท่าน บอกกับเลขานุการว่า เธอเชื่อเหลือเกินว่าสามีรอดตายเพราะสมเด็จหลวงพ่อทวด ฯ ได้เสด็จไปช่วยชีวิตไว้ เพราะเธอเป็นคนอธิษฐาน พอได้ยินเสียงรัวปืนกลเธอก็นึกขอให้พระเสด็จไปช่วย

นักเขียนฝรั่งเศสได้สัมภาษณ์พระที่วัดช้างไห้ และสัมภาษณ์ชาวบ้านอีกสองสามคน

ผมส่งเขาขึ้นเครื่องบินกลับปารีสไปแล้ว

ปลายปีนี้หนังสือประวัติเดอโกลล์ของเขาก็คงจะออกวางจำหน่าย เขารับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะต้องส่งมาให้ผมหนึ่งเล่ม

แต่พอได้ยินว่า โยคีและพระฤาษีเยอะแยะจะมาประชุมสัมมนากันในกรุงเทพฯ ชักหูผึ่ง…สนใจขึ้นมาเชียวละ

“โอฬาร” - หนังสือหัวเตียง

หนังสือต่วย'ตูน เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ ปีที่ ๑๒ เล่มที่ ๖

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest
LinkedIn

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Photobook

Highlight

Back Issues

On Key

Related Posts

หมาเจ้าเมือง

หมาเจ้าเมือง ร.ต.พิมล สุวรรณสุภา อันว่าบุญวาสนาของสัตว์โลก ทั้งผองจะเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงนั้น ย่อมเป็นไปตามกฎแห่งกรรมของตนเองทั้งสิ้น ก่อกรรมใดที่ไม่ถูก กาลเทศะ, โลภโมโทสัน หรือเหิมเกริมจนลืมตนก็จะเป็นเหตุปัจจัยฉุดรั้งให้ต่ำลง แทนที่จะช่วยดึงให้สูงขึ้น สัจธรรมข้อนี้ผมได้มาจากชีวิตของ

รบกับเจ็ก

รบกับเจ็ก ประสงค์ บานชื่น ทางสื่อมวลชน เช่นวิทยุ โทรทัศน์ (เอ๊ย, ยังไม่มี) และหนังสือพิมพ์ ว่า “เชื่อผู้นําชาติพ้นภัย” “มาลานําไทยสู่มหาอํานาจ”

มวยแขก

ชุดแขกอมยิ้ม มวยแขก ชัยชนะ โพธิวาระ คุยกับแขกไม่ว่าเรื่องใดก็ตามอาบังแกต้องมีเรื่องมาเกทับคู่สนทนาอยู่เสมอ เช่นคุยถึงเรื่องรถแขกเขาต้องบอกว่ารถที่ผลิตในอินเดียแข็งแกร่งที่สุด รูปร่างที่สวยงาม แถมชื่อยังไพเราะซะด้วยคือยี่ห่อแอมบาสดอร์ ยิ่งมอเตอร์ไซค์ยิ่งชื่อเพราะใหญ่คือยี่ห้อ YEZDEE ถ้าคุยถึงเรื่องพระเจ้าบังแกก็จะคุยจนน้ําลายฟูมปากอีกนะแหละว่าอินเดียเป็นดินแดนของพระเจ้าและมีพระเจ้าอยู่ที่นี่มากที่สุด เรียกว่าคุยเรื่องไหนมาแขกเป็นคุยทับไปได้อย่างสบาย

ตะเกียงเจ้าพายุดวงนั้น – ปัญญา ฤกษ์อุไร

ปัญญา ฤกษ์อุไร ชุดทางไปสู่จวน ตะเกียงเจ้าพายุดวงนั้น ปัญญา ฤกษ์อุไร หลังจากที่ปลัดเชิดและข้าพเจ้า กับนายพันเสมียนมหาดไทย ออกไปทําตั๋วรูปพรรณควาย ที่ตําบลตาพระยา ในคราวนั้นแล้วก็เว้นระยะไปประมาณ ๒-๓

ชีวิตเสมียนจ้าง-บัญชีผี

ชุดทางไปสู่จวน ชีวิตเสมียนจ้าง-บัญชีผี ปัญญา ฤกษ์อุไร วันนั้นเป็นวันจันทร์ตอนต้น ๆ เดือน ข้าพเจ้าไปอําเภอแต่เช้า เพราะเป็นวันที่นายอําเภอให้ข้าพเจ้าไปเริ่มทํางานเป็นเสมียนจ้างได้ เมื่อข้าพเจ้าไปถึงอําเภอนั้นเป็น เวลาแปดโมงเศษ ๆ

ชีวิตเมื่อปลายสงครามมหาเอเชียบูรพา

ชุดทางไปสู่จวน ชีวิตเมื่อปลายสงครามมหาเอเชียบูรพา ปัญญา ฤกษ์อุไร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ อันเป็นปีที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ กําลังจะยุติ ข้าพเจ้าติดตามพ่อไปศึกษาอยู่โรงเรียนประจําอําเภอปากพนัง ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลชาย